เรื่องเล่าจากบันทึกเหตุการณ์ : การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 กองทัพเรือ โดยคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี จึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานและมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติจัดเตรียมกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก
----------------
-เขียงฝึก-
ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การฝึกอบรมกำลังพลฝีพายคือขั้นตอนสำคัญลำดับแรกเริ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะและความรู้พื้นฐานด้านการพายเรือพระราชพิธีให้แก่กำลังพลฝีพาย นายเรือ และนายท้าย แบ่งช่วงระยะการฝึกอบรมออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การฝึกอบรมพายเรือบนบก ระยะที่ 2 การฝึกพายเรือในน้ำ (บ่อพักเรือ) และระยะที่ 3 การฝึกเข้ารูปขบวนเรือในแม่น้ำ
การฝึกอบรมพายเรือบนบก คือการฝึกพายเรือบน “เขียงฝึก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกฝนท่าทางการปฏิบัติของกำลังพลฝีพายก่อนที่จะลงเรือจริง ทำให้กำลังพลฝีพายเกิดความคุ้นชิน สามารถจัดระเบียบร่างกายได้อย่างถูกต้องพร้อมเพรียงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เขียงฝึกที่ใช้ในการฝึกนี้ เรียกว่า เขียงไม้ มีลักษณะเป็นไม้กระดานต่อกันสูงขึ้นเหนือจากพื้น โดยจำลองโครงสร้างให้คล้ายคลึงกับเรือพระราชพิธี ส่วนที่กำลังพลฝีพายใช้นั่ง เรียกว่า “กระทง” ซึ่งเป็นไม้กระดานหน้าเรียบ วางเรียงกันในแนวขวาง แบ่งช่องว่างเป็นตอน ๆ ด้วยระยะห่างเท่ากันเหมือนกับกระทงยึดกราบเรือ ด้านล่างกระทงต่อไม้สำหรับกำลังพลฝีพายวางและยันเท้า เรียกว่า “ไม้วางเท้า” ด้านบนตรงกลางกระทรงวางไม้ทับเป็นแนวยาว เรียกว่า “ไม้ทับกระทง”
นอกจากไม้กระดานแล้ว การก่อสร้างเขียงฝึกในปัจจุบันยังสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความคงทนแข็งแรงของโครงสร้างเขียงฝึกเป็นสำคัญ เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักของกำลังพลฝีพายเป็นจำนวนมาก อนึ่ง การฝึกอบรมกำลังพลฝีพายบนเขียงฝึกในครั้งนี้ กองทัพเรือวางแผนกำหนดการซ้อมตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 แบ่งพื้นที่การฝึกเป็น 12 พื้นที่ มีเขียงฝึกจำนวนทั้งสิ้น 20 เขียง
เรียบเรียงโดย นางสาวเบญญา แสงคล้าย นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
(จำนวนผู้เข้าชม 680 ครั้ง)