...

20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ วันพระราชสมภพสองยุวกษัตริย์
20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ วันพระราชสมภพสองยุวกษัตริย์
----------------------------
พุทธศักราช 2528 (ปี 1985) เป็นปีที่องค์การสหประชาชาติหรือ UN (United Nations) ประกาศให้เป็นปีเยาวชนสากล (International Youth Year: IYY) ด้วยเหตุนี้ ดร. สายสุรี จุติกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ หรือ สยช. (ปัจจุบันคือคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ หรือกดยช.) จึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดงานวันเยาวชนแห่งชาติของประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2528 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ ด้วยเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ ซึ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นยุวกษัตริย์แต่ยังทรงพระเยาว์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จึงถือเป็นวันสิริมงคลในการพัฒนาเยาวชน และเป็นโอกาสให้เยาวชนไทยได้ระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ากับอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช 1215 ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2396
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต จึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ มะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2411 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2411 เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2416
ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกอปรพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อพัฒนาสยามให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัย และทรงปฏิรูปการศึกษาให้ราษฎรมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังทรงพัฒนาสาธารณูปโภคและการสาธารณสุขให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีและสะดวกสบายขึ้น ตลอดจนทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี เป็นพระโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 สภาผู้แทน ราษฎรมีมติเห็นชอบให้คณะรัฐบาลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักนรนฤบดินทร์สยามินทราธิราช ขณะมีพระชนมายุ 9 พรรษา โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
เรียบเรียงโดย นางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
----------------------------
อ้างอิง
กรมกิจการเด็กและเยาวชน. ประวัติความเป็นมา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.dcy.go.th/ content/1636520311278/1636520514570 สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2565.
กรมศิลปากร. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล. กรุงเทพฯ: บริษัท ส.ศิลป์ (2521) จำกัด, 2529.
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อานันทมหิดล ผู้เป็นที่รักของแผ่นดิน พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 4 มิถุนายน 2460 กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2560.
มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์. พระราชประวัติพระมหาษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ บทพระราชนิพนธ์ในการเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 ในรัชกาลที่ 5 ประวัติเมืองกำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์, 2537.
สำนักนายกรัฐมนตรี. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ. 25 ปี สยช. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.dcy.go.th/public/mainWeb/file_download/
1646493472100-674880574.pdf สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2565.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกระทรวงศึกษาธิการ จัดครั้งที่ 2 (2) ศธ26/2195 เรื่องส่งตัวอย่างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเผยแพร่และจำหน่าย (4 - 7 ตุลาคม 2487).
อรวรรณ ทรัพย์พลอย. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2546.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพกองจดหมายเหตุแห่งชาติ รวบรวมจากแหล่งอื่น ๆ ภ 001 กจช (อ) 2/30 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฉายคราวเสด็จนิวัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2481.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพกองจดหมายเหตุแห่งชาติ รวบรวมจากแหล่งอื่น ๆ ภ 001 กจช (อ) 3/63 พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะประทับโต๊ะทรงพระอักษร.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพกองจดหมายเหตุแห่งชาติ รวบรวมจากแหล่งอื่น ๆ ภ 001 กจช (อ) 6/5 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะทรงพระเยาว์ฉลองพระองค์ปกกลาสี.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพกองจดหมายเหตุแห่งชาติ รวบรวมจากแหล่งอื่น ๆ ภ 001 กจช (อ) 7/28 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงฉลองพระองค์เต็มยศพร้อมเครื่องพระบรมราชอิสริยยศราชูปโภค พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายในคราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก (พฤศจิกายน 2481).
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 001 หวญ 12/9(3) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงฉายกับสมเด็จพระบรมราชโอรสองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2411 พระชันษา 16 ปี ขณะนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ มีพระชนมายุ 65 พรรษา.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 001 หวญ 19/12 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 พระชันษา 16 ปี.
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพอัลบั้ม กระทรวงการต่างประเทศ ภอ. กต. 2/99 พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ทรงฉายคราวบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง).
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 22308 ครั้ง)