...

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ : ช้างสำคัญคู่พระบารมีช้างแรกในรัชกาลที่ 9
"พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ : ช้างสำคัญคู่พระบารมีช้างแรกในรัชกาลที่ 9"
ช้างเผือกมีความสำคัญต่อบ้านเมืองและเป็นพระราชพาหนะคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ มีฐานะเทียบเท่าเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า เชื่อกันว่า ช้างเผือกเกิดขึ้นเพราะพระบารมีของพระมหากษัตริย์ เป็นมิ่งขวัญของราษฎร การได้ช้างเผือกจึงเป็นมงคลสำหรับบ้านเมือง หากผู้ใดจับช้างเผือกได้หรือช้างที่เลี้ยงไว้ตกลูกออกมาเป็นช้างเผือกจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เป็นไปตามพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พ.ศ. 2464 มาตรา 12
คำว่า “ช้างเผือก” โดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าต้องมีสีขาวหรือขาวกว่าปกติ แต่ตามลักษณะของกรมพระคชบาลถือตามตำราพระคชศาสตร์กล่าวว่าช้างเผือกมีหลายสี ได้แก่ ขาว เหลือง เขียว แดง ดำ ม่วง เมฆ และต้องประกอบด้วยคชลักษณ์อื่น ๆ อีก เช่น ตา เพดาน อัณฑโกศ เล็บ ขน คางใน (ร่องผิวหนัง) ไรเล็บ สนับงา ช่องแมลงภู่ จึงเข้าลักษณะเป็นช้างเผือกได้ ซึ่งกรมคชบาลไม่เรียกว่า “ช้างเผือก” เรียกว่า “ช้างสำคัญ” เมื่อตรวจสอบตามตำรารวมทั้งกริยามารยาทอื่น ๆ ว่าถูกต้องตามคชลักษณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางพระราชทานนามเป็นพระยาช้างต้นหรือนางพระยาช้างต้น ณ เมืองที่ได้ช้างนั้น หรือนำมากรุงเทพฯ แล้วแต่พระราชประสงค์ ถ้าจัดพระราชพิธีในกรุงเทพฯ ก่อนนำช้างมาจะมีการสมโภช ณ เมืองที่จับช้างได้ และเมื่อเดินทางหากพักแรมที่เมืองใดก็จะมีการสมโภชทุกเมือง คือ มีพระสงฆ์สวดมนต์ เวียนเทียน และมหรสพสมโภช ตลอดทุก ๆ เมือง
ย้อนไปตั้งแต่สมัยพระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างคู่พระบารมีในรัชกาลที่ 7 ล้มลง ประเทศไทยก็ไม่พบช้างเผือกอีกเลย กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยทราบว่าที่จังหวัดกระบี่มีช้างสีประหลาดเข้าคอกนายแปลก ฟุ้งเฟื่อง จึงให้พระราชวังเมืองสุริยชาติ สมุห (ปุ้ย คชาชีวะ) ผู้เชี่ยวชาญการดูลักษณะช้างมาตรวจสอบโดยละเอียด พบว่า ลูกช้างพลายเชือกนี้เป็นลูกช้างที่ต้องด้วยคชลักษณ์เป็นช้างสำคัญคู่บ้านคู่เมือง และเป็นเครื่องส่งเสริมพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ กล่าวคือ เป็นช้างพลายรูปงาม อายุประมาณ 3 ขวบ สูง 154 ซม. งาขวาซ้าย งามเรียวเป็นต้นปลาย ยาว 29.5 ซม. หู หาง งามพร้อม หางปัดปลอก ตาขาวเจือเหลือง เพดานขาวเจือชมพู อัณฑโกศขาวเจือชมพู เล็บขาวเจือเหลืองอ่อน ขนโขมดสีน้ำผึ้งโปร่ง ขนหูยาว ขนบรรทัดหลังสีน้ำผึ้งโปร่งเจือแดง ขนตัวขึ้นขุมละ 2 เส้น ขนหางสีน้ำผึ้งแก่ เจือแดงแก่ สีกายสีบัวแดง สรุปคือ เป็นช้างที่มีลักษณะสมบูรณ์ตรงตามคชลักษณ์ อยู่ในตระกูลพรหมพงศ์ จำนวนอัฐิทิศ “กมุท” สีกายดังดอกโกมุท เสียงเป็นสรรพแห่งแตรงอน ประจำทิศหรดี
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกช้างพลายสำคัญแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ สวนสัตว์ดุสิต (ขณะนั้นใช้ชื่อสวนสัตว์เขาดินวนา) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เวลา 15 นาฬิกา 20 นาที และต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 และได้พระราชทานพระนามว่า
“พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนวมนาถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศุทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาต สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า” ซึ่งถือเป็นช้างสำคัญคู่พระบารมีช้างแรกในรัชกาลที่ 9
พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 เวลา 15 นาฬิกา ได้มีขบวนแห่ช้างสำคัญออกจากสวนสัตว์ดุสิตเข้าสู่โรงพระราชพิธี พระราชวังดุสิต พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาและเจริญพระพุทธมนต์ พราหมณ์ทำพิธีบูชาพระเทวกรรม พระราชพิธีฯ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ประกอบด้วย ช้างสำคัญอาบน้ำ การตักบาตร เลี้ยงพระขึ้นระวาง ครั้นได้เวลาพระฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับเกยข้างเบญจพาษ ทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระเต้าเทวบิฐและน้ำพระมหาสังข์พระราชทานแก่ช้างสำคัญ ทรงเจิมอ้อยแดงจารึกนามพระราชทานช้างสำคัญ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณรดน้ำสังข์ตามโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเครื่องคชาภรณ์ให้แต่งช้างสำคัญ พราหมณ์อ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง แล้วเบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระยาช้างต้น และพราหมณ์เจิมพระยาช้างต้น เป็นอันเสร็จพิธี
พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ยืนโรงที่โรงช้างต้น สวนสัตว์ดุสิต กระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวณีย์โปรดเกล้าฯ ให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เข้าไปยืนโรงในโรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2519 และต่อมาได้เคลื่อนย้ายพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 17 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2547 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2547 ทั้งนี้ พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ล้มลงเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ผู้เรียบเรียง : นางสาวดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ คณะทำงานองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
หมายเหตุ : คงการสะกดชื่อพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ
------------------------------
อ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มท 0201.2.1.31/42 เรื่อง พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ (31 ตุลาคม 2502)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารบันทึกเหตุการณ์และจดหมายเหตุ จ/2502/40 เรื่อง พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤศจิกายน 2502 (10 – 11 พฤศจิกายน 2502)
เพลินพิศ กำราญ. โรงช้างต้น. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2521.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญ ฉ/จ/1587 ภาพช้างสำคัญ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ภาพส่วนบุคคล ชุด นางเติมทรัพย์ จามรกุล ภ หจภ สบ2.3/11(1) ภาพพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ภาพชุดพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ภ หจภ อ2/78 (1) ภาพพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ภาพชุด สำนักพระราชวัง ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่) ภ หจภ พว2.1.2/130 (1) ภาพพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 44106 ครั้ง)


Messenger