เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กระทั่งแล้วเสร็จในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)
เมื่อพ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้กระทรวงเกษตราธิการพิจารณาวางโครงการชลประทานในลุ่มน้ำภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยให้สร้างเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อทดน้ำเข้าทุ่งนา กรมคลอง กระทรวงเกษตราธิการประมาณการว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท แต่เนื่องจากขณะนั้นต้องนำเงินงบประมาณไปใช้บริหารจัดการด้านอื่นก่อน จึงเหลือเพียงโครงการรักษาน้ำในที่ลุ่ม
ต่อมา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดฝนแล้งถึงสองปีติดต่อกัน ทำให้การทำนาและการเพาะปลูกไม่ได้ผล เกิดสถานการณ์ข้าวยากหมากแพง ราษฎรเดือดร้อน กรมทดน้ำจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานโครงการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา แต่ด้วยขณะนั้นรัฐบาลกำลังดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนป่าสักใต้และโครงการอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว และประจวบกับเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 โครงการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาจึงต้องระงับไว้
พ.ศ. 2491 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตราธิการ ได้เสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาอีกครั้ง รัฐบาลพิจารณาเห็นชอบ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ได้เจรจาขอกู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อเป็นเงินทุนซื้อเครื่องจักรและเครื่องมือในการก่อสร้าง และใช้เงินงบประมาณของประเทศสำหรับเป็นค่าแรง ค่าวัสดุก่อสร้างที่ผลิตได้ภายในประเทศ งบประมาณโครงการรวม 1,160 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างต้นปี พ.ศ. 2495
โครงการชลประทานเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบด้วย การสร้างเขื่อนระบายและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ประตูน้ำ ช่องลัดซึ่งเป็นทางน้ำใหม่ ทำนบดินปิดลำน้ำเดิม มีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร ติดตั้งบานประตูเหล็กรูปโค้งสูง 7.50 เมตร มีช่องระบายให้น้ำไหลผ่านขนาดกว้าง 12.50 เมตร จำนวน 16 ช่อง มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 300 กิโลวัตต์ เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้ บนสันเขื่อนมีสะพานกว้าง 7 เมตร สามารถส่งน้ำเข้าคลองชลประทานไปยังพื้นที่นาและพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 5,700,000 ไร่ มีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินเพื่อช่วยระบายน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาแล้วเสร็จปลายปีพ.ศ. 2499 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพายา จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยมีพระราชดำรัสว่า
“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยาในวันนี้ ประเทศของเราเป็นประเทศกสิกรรม ทั้งข้าวก็เป็นอาหารหลักของประชาชนพลเมือง การอยู่ดีกินดีของอาณาประชาราษฎร์และความสมบูรณ์มั่งคั่งของประเทศยังต้อง อาศัยอยู่กับการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกข้าวในภาคกลางนี้ รัฐบาลของเราทุกยุคทุกสมัย ดังที่นายกรัฐมนตรีแถลงมา ได้เล็งเห็นความสำคัญและสนใจในการทำนุบำรุงประเทศโดยการที่จะสร้างโครงการชลประทานเพื่อส่งเสริมช่วยการเพาะปลูกและการทำนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่ายินดียิ่งนักที่เขื่อนเจ้าพระยา อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชลประทานที่ได้ดำริกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นอันก่อสร้างสำเร็จลงได้ในปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นหลักพยานอันหนึ่งถึงความเพียรพยายามที่จะดำเนินการอันจะก่อประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติอันดีของคนไทย...
...ได้เวลาแล้วข้าพเจ้าจะได้กระทำพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา ขอให้เขื่อนเจ้าพระยานี้จงสถิตอยู่ด้วยความมั่นคงถาวร ได้อำนวยบริการแก่ประเทศชาติและเพิ่มพูนประโยชน์แก่กสิกรต่อไปอย่างไพศาล สมตามปณิธานที่ได้ก่อสร้างขึ้นนั้นทุกประการ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ทุก ๆ คนทั่วกัน”
ผู้เรียบเรียง : นางสาวดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ
คณะทำงานองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
--------------------------------
อ้างอิง :
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (3) สร0201.30.1/2 เรื่อง การออกแบบรายละเอียดเขื่อนเจ้าพระยา (5 กันยายน 2493 – 6 มกราคม 2497)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (3) สร0201.30.1/9 เรื่อง พิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา (17 สิงหาคม 2499 – 4 กุมภาพันธ์ 2500)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงมหาดไทย กองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มท 0201.2.1.28/69 เรื่อง รัฐพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา (พ.ศ. 2500)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ท/318, ฉ/ท/343 ภาพพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างเขื่อนเจ้าพระยา
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ภาพกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ภ หจภ (3) กษ1.1/1, ภ หจภ (3) กษ1.1/65, ภ หจภ (3) กษ1.2/1,3 ภาพเขื่อนเจ้าพระยา
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. สไลด์ส่วนบุคคล นายสุทัศน์ พัฒนสิงห์ ฟ หจภ สบ1.1/842 ภาพเขื่อนเจ้าพระยา
(จำนวนผู้เข้าชม 23000 ครั้ง)