...

พระบรมธาตุเมืองน่าน
พระบรมธาตุเมืองน่าน
ประดิษฐาน ณ พระพุทธชินราช วโรวาทธรรมจักร พระวิหารทิศใต้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ กรุงเทพมหานคร
พระพุทธชินราชวโรวาทธรรมจักร หรือ พระพุทธเจ้าเทศนาพระธรรมจักร พระประธานพระวิหารทิศใต้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากกรุงเก่า (สุโขทัย) โดยมีกรมหมื่นวงศาสนิท พระองค์เจ้ามรกต (กรมขุนสถิตยสถาพร) พระองค์กลาง (กรมพระเทเวศรวัชรินทร) ทรงกำกับการสร้างวิหารทิศ ๔ ดังปรากฎความใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๑ ว่า
"...พระพุทธรูปน่าตักสี่ศอกห้านิ้ว เชิญมาแต่กรุงเก่าปติสังขรณ์เสรจ์ แล้วปดิษถานไว้ในพระวิหารทิศใต้ ถวายพระนามว่าพระพุทธิเจ้าเทศนาพระธรรมจักรมีพระปัญจะวักคีทังห้านังฟังพระธรรมเทศนาด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักรแลเทศนาดาวดิงษ์.."
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ถวายพระนามพระพุทธชินราช ดังปรากฏจารึกไว้ที่ฐานว่า
"พระพุทธชินราช วโรวาทธรรมจักร อัครปฐมเทศนา นราศภบพิตร"
“...พระวิหารทิศใต้ พระวิหารนี้ มุขหน้าประดิษฐานพระชินราชซึ่งเชิญมาต่เมืองสุโขทัย ปางเทศนาธรรมจักร มีพระเบญจวัคคีย์อยู่ข้างหน้า เขียนภาพตั้งแต่เทศนาธรรมจักรจนถึงธาตุอันตรธาน ช่างเขียนกรมช่างมหาเล็ก มุขหลังเขียนเรื่องฎีกาพาหุง ๘ บท หลวงกรรภยุบาทว์เจ้ากรมเป็นผู้กำกับการซ่อม จ่าจิตรนุกูลกรมมหาดเล็กเป็นผู้ตรวจ”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้พบพระธาตุ บริเวณท่าปลา บ้านแฝก โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงบรรจุไว้ในองค์พระชินราช วิหารทิศใต้ ดังความในหนังสือราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ว่า
“...อยู่มาจนเถิงจุลศักราชได้ ๑๑๗๐ ตัว ปีเบิกสีเดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำเจ้าฟ้าหลวงท่านก็เสด็จลงไปเฝ้าพระมหากระษัตริย์เจ้าเมืองใต้ ท่านเสด็จลงไปเถิงท่าปลาบ้านแฝกหั้นแล้ว ยามนั้นยังมีเจ้าสามเณร ๒ ตนตน ๑ ชื่อว่าอริยะ ตน ๑ ชื่อว่าปัญญา ลงไปสู่ท่าน้ำเวลายามเช้าท่านก็ได้หันยังไหจีนลูก ๑ ฟูปั่นแคว้นอยู่ที่วังวนปากถ้ำหั้น ก็กันลงไปเอาออกมาแล้วก็ไขดู ก็หันพระเกษาธาตุเจ้าดวง ๑ ลอยเข้ามุกดาหาร ไว้ ๔ ดวง แลธาตุพระเจ้าอารัตนเจ้ามี ๒๖๐ ดวง มีพระพิมพ์คำ ๖๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐๔ องค์ แลพระพุทธรูปแก้วมี ๔ องค์ ต้นดอกไม้คำต้น ๑ ต้นดอกไม้เงินต้น ๑ น้ำต้นเงินต้น ๑ น้ำต้นคำต้น ๑ ไตลเงิน ลูก ๑ ไตลคำลูก ๑ ภายในใส่แก่นจันทน์ขาว หมอนคำลูก ๑ ภายในใส่แก่นจันทน์แดงแลใส่ช้างจ้อยม้าจ้อย เงินคำมี ๖๐ สาดเงิน ๑ สาดคำ ๑ แก้วแหวนมีพร้อมทุกอัน ครั้นท่านลงไปเถิงแล้วท่านหื้อช่างเครื่องมาตีแปงยังโขงเงินใส่แล้ว แปงต้นดอกไม้เงินต้น ๑ ต้นดอกไม้คำต้น ๑ บูชาไว้กับพระธาตุเจ้าแล้ว ท่านก็นิมนต์เอาพระสงฆเจ้ามาฉลองฟังธรรมพุทธาภิเศกใส่บาตรหยาดน้ำหมายทานแล้ว ท่านก็นิมนต์เอาเกษาธาตุเจ้าเข้าสู่เรือเอาล่องไปเมตตาพระมหากระษัตริย์เจ้าเมืองใต้หั้นแล พระมหากระษัตริย์เจ้าครั้นได้ทราบรู้ยิน ยังเจ้าฟ้าพระเกษาธาตุเจ้าลงไปถวายสันนั้น ท่านก็มีความชื่นชมโสมนัศยินดีหาประมาณบ่ได้ แล้วท่านก็แต่งเฉลี่ยงคำพร้อมแลขันคำพร้อมด้วยเครื่องสงเสพ คือดุริยดนตรี มาต้อนรับเอาแล้ว ก็สงเสพแห่แหนนำเข้าไปเถิงท้องปราสาทแล้วก็กระทำสักการบูชายังพระเกษาธาตุเจ้า ด้วยเครื่องบูชาทั้งหลายต่าง ๆ หั้นแล เมื่อนั้นพระมหากระษัตริย์เจ้าท่านก็มีธูปเทียนขอนิมันตนายังพระเกษาธาตุเจ้าอยู่เมตตาโปรดในกรุงเทพมหานครหั้นแล แล้วท่านก็มีความยินดีกับด้วยเจ้าฟ้ายิ่งกว่าเก่า แล้วก็ปงพระราชทานรางวัลสมนาคุณบุญเจ้าฟ้าเปนอันมากนักหั้นแล เจ้าฟ้าหลวงก็มาเมี้ยนแก่ราชกิจการทั้งมวลแล้ว ท่านก็กราบทูลลาพระมหากระษัตริย์เจ้า แล้วท่านก็เสด็จขึ้นมาเถิงเมืองแล้วในเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำวันนั้นแล
ครั้นว่าท่านเสด็จขึ้นมาฮอดเมืองแล้ว ท่านจิงจักเชิญปกเตินยังเจ้านายขัติยวงษาขุนแสนขุนหมื่นรัฐประชาไพร่ไทยทั้งหลายมวล หนภายในภายนอกทั้งมวลในจังหวัดนครเมืองน่านทุกแห่ง หื้อตกแต่งสร้างยังสรรพสู่เยื่องเครื่องครัวทานแลเครื่องเล่นทั้งหลายพร้อมสู่เยื่อง หื้อมีรูปสรรพรูปทั้งหลายพร้อมสู่อันแล้ว เถิงวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำท่านก็มีอาชญาแก่เจ้านายเสนาอามาตย์ไพร่ไทยทั้งหลายตั้งเล่นมโหรศพ ในท้องข่วงสนามไปถาบเถิงวันเดือนเพ็งนั้นเวลาเช้า ก็จิงจักยกครัวทานทั้งหลายมวลขึ้นไปในข่วงแก้วภูเพียงแช่แห้ง ได้นิมนต์พระสงฆเจ้าแลสามเณรมารับทานที่ในข่วงพระธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง รวมเส้นหัววัดมี ๑๓๙ หัววัด รวมภิกษุสงฆเจ้าทั้งหลายมี ๔๖๓ องค์ รวมสามเณรมี ๘๖๓ องค์ รวมเข้ากันมี ๑๓๒๖ องค์แล ทินนวัตถุทานหอผ้ามี ๑๓๖หลังท่านก็ได้แปงบอกไฟขวีใหญ่บอก ๑ ใส่ดินไฟเสี้ยง ๓๔๗,๐๐๐ อัน หนป่าวอนุโมทนาทาน มีบอกไฟขึ้นตั้งแต่ ๑๐๐๐๐ นับลงลุ่มมี ๑๔๔ บอก บอกไฟขวีน้อยแลบอกไฟกวาง บอกกงหัน บอกไฟดาว บอกไฟนก บอกไฟเทียน แลปฏิช่อธุง ทั้งมวลจักคณนาบ่ได้ มีตั้งต้นกัลปพฤกษ์สรรพทั้งมวลแล แต่บอกไฟขึ้นเจาะ ๓ วันจิงเมี้ยนบริบวรณ์แล...”
ความในจารึกครั้งรัชกาลที่ ๑ ว่าด้วยพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน ความว่า
“ศุภมัสดุ ๒๓๕๑ นาคสังวัจฉรอาลุชมาศศุกปักษฉดฤษถี สุริยวารกาลปริเฉทกำหน พระบาทสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช รามาธิบดี ศรีวิสุทธิคุณวิบูลยปรีชา ฤทธิราเมศวรราช บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์อนันตวิริยาทิโพธาภิรัต ผ่านสมบัติ ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งบุศบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน โดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยพระบรมราชวงศาเสนาพฤฒามาตย์ราชชมนตรี กระวีชาติปโรหิตาจารย์ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยอันดับ จึงพระยามหาอํามาตยาธิบดี พิริยพาหะ ผู้ว่าที่สมุหนายก กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เจ้าฟ้าเมืองน่าน บอกลงมาว่า ณ วันเดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก พระบรมสารีริกธาตุกระทำพระอิทธิปาฏิหาริย์ บันดาลไหซึ่งใส่พระธาตุนั้นให้ผุดขึ้นมาลอยวนอยู่หลังน้ำ ตรงปากถ้ำน้ำน่านใต้ท่านบ้านแฝก สามเณรสององค์ลงไปดูนาวาท่าน้ำแลไป สำคัญใจว่าผลฟักลอยอยู่ ลงเรือไปดูเห็นเป็นไหเคลือบเขียวสอาด จึงยกขึ้นสู่นาวาพาเข้ามาบอกพระสงฆ์ช่วยกัน เปิดดูเห็นกล่องเงินใหญ่ใส่พระธาตุ ๒๓๕ องค์ กับพระพุทธรูปแก้วเงินทอง ๒๗๒ องค์ ทั้งเครื่องสักการบูชา มีรูปช้างม้า ต้นไม้ คนโท ผอบ แผ่นเงินทอง กล่องเข็มจอกใส่พลอย ทุกสิ่งสรรพเครื่องพิจิตรด้วยสุวรรณ หิรัญรัตนประดับอยู่ในไห พระสงฆ์สามเณรจึงช่วยกันเชิญพระบรมธาตุไปได้ที่ควร ชวนกันทำสักการบูชา พอเจ้าฟ้าเมืองน่านล่องลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แจ้งว่าเจ้าสามเณรได้พระบรมธาตุเป็นมหัศจรรย์ หามีที่สำคัญ อารามใกล้ชํารุดทรุดพังไม่ พระบรมธาตุกระทำพระปาฏิหาริย์ ให้ปรากฎ ดังนี้ด้วยเดชพระบารมีพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าเมืองน่านจึงเชิญพระบรมธาตุใส่เรือขนานแห่ลงมาทูลเกล้าฯ ถวาย ครั้นได้ทรงฟัง ทรงพระปีติโสมมนัก จึงมีพระราชโองการ มานพระบัณฑูร สุรสิงหนาทดํารัสสั่ง ให้เสวกามาตย์ราชมนตรีแต่งที่และเครื่องสักการบูชา แห่พระบรมธาตุขึ้นมาจากเรือ เชิญสถิตย์เหนือพระแท่นในพระที่นั่งมหาจักรพรรดิพิมาน พร้อมด้วยการสมโภชโสรจสรงทรงถวายเครื่องสักการบูชา แล้วให้ประชุมธรรมธราชาติราชบัณฑิตยทั้งปวง มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เลือกจัดพระธาตุได้ต้องตามพระบาลี มีศรีสัณฐานต้องด้วยอย่างเป็นพระบรมสารีริกธาตุแท้ ๔๙ พระองค์ เหลือนั้นเป็นธาตุพระอรหันต์ ๑๑๖ พระองค์ ทรงเชิญพระบรมธาตุใส่ในพระโกศให้เสด็จอยู่ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กิติศัพท์ก็ปรากฏทั่วทุกประชาชนชาติ เกิดประสาทศรัทธาเลื่อมใส เกลื่อนกล่นกันมากระทำสักการบูชา บ้างถวายหิรัญวัดถาลังการเครื่องประดับ จึงทรงพระราชดําริว่า พระบรมสารีริกธาตุ กระทำพระพุทธอิทธิปาฏิหาริย์มาแต่เมืองน่านครั้งนี้ เป็นศุภศิริสวัสดิ์มหัศจรรย์นัก ซึ่งจักประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ไปภายหน้าสรรพเครื่องสักการบูชาแห่งทายกเก่าใหม่กับเครื่องพุทธบูชา ซึ่งอุทิศไว้ในพระแก้วมรกตก็จะบริคณห์กลิ่นเกลื่อนกัน เข้าหาควรไม่ และพระชินราชกับพระชินศรีซึ่งอยู่ ณ เมืองสุโขทัยนั้นต้องแดดฝนตรากตรำคร่ำคร่าเพลิงป่าเผาแตกพัง หาผู้จะรักษาทํานุบํารุงไม่ ให้อาราธนาลงมาปฏิสังขรณ์พระลักษณสิ่งใดมีต้องด้วยพระพุทธลักษณให้ช่างซ่อมแปลงแต่งให้ต้องด้วยพระอรรถกถาบาลี บัดนี้ก็สำเร็จแล้ว จักเชิญพระบรมธาตุไปบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปจึงจะควร ในปีมะโรง สัมฤทธิศกนั้น เมื่อได้ศุภสวัสดิฤกษ์ ทรงพระกรุณาให้เชิญพระบรมธาตุ ในพระราชวัง ๔๑ พระองค์ กับพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน ๒๓๕ พระองค์ ทรงสรงพระสุคนธวารีเสร็จเชิญเสด็จเหนือพระยานุมาศ ให้ตั้งพลพยุหกระบวนแห่เป็นชนัด พร้อมด้วยเครื่องสูงแลราชวัตรฉัตรธงผ้าธงปฏาก พิณพาทย์แตรสังข์ ดุริยางค์ดนตรีประโคมแห่ลงไป ณ วัดพระเชตุวันาราม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธา อุสาหะเสด็จพระราชดำเนิรไป ทรงบรรจุพระบรมธาตุในพระราชวัง เข้าไว้ในพระชินศรีแต่ ๓๐ พระองค์ แล้วเชิญพระชินศรีสถิตย์ ที่พุทธอาสน์ ในพระวิหารด้านทักษิณทิศ สนองพระพุทธองค์ดุจทรงสถิตย์นั่งเสวยผลศุภฌานสมาบัติ ภายใต้ร่มไม้จิก แทบขอบสระมุจลินท์ แล้วเชิญพระบรมธาตุในพระราชวัง ๑๑ พระองค์นั้น บรรจบกับพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่านเข้ากัน ๖๐ พระองค์ กับทั้งไห ใส่เครื่องสักการบูชาเก่าใหม่ ทรงบรรจุไว้ในองค์พระชินราช เชิญขึ้นสถิตย์เหนือวิจิตรบวรพุทธอาสนใน พระวิหารด้านประจิมทิศไว้เป็นที่เจดียถาน ให้เป็นที่สักการบูชาสนองพระพุทธองค์ดุจทรงนั่งตรัสพระสธรรมเทศนาพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตรโปรดปัญจวัคคียภิกษุทั้ง ๕ ในอิสิปตนมฤคทายวัน จึงเชิญธาตุอรหันต์ ๑๘๖ พระองค์ ใส่ในพระโกศแก้ว ๕ ใบ ทรงบรรจุไว้ในองค์พระปัญจวัคคียภิกษุสาวกทั้ง ๕ แล้วทรงพระกรุณาให้จัดช่วยคนเป็นข้าพระบรมธาตุครัวหนึ่ง ๖ คน เป็นเงิน ๗ ชั่ง แลเงิน ซึ่งทายกบูชามาแต่เมืองน่านมีอยู่แต่ชั่งสิบตำลึง เงินบูชา ณ กรุงฯ สามชั่ง หกตำลึงหาพอไม่ จึงทรงพระราชศรัทธาให้เอาเงินตรา ณ ท้องพระคลังเพิ่มเข้าอีก ๒ ชั่ง ๔ ตำลึง เข้ากันเป็นเงิน ๗ ชั่ง ช่วยถ่ายชายหญิงได้ ๖ คน เป็นข้าพระบรมธาตุ สำหรับอภิบาลรักษาไวยาวจกร เพื่อจะให้พระบรมธาตุเจดีย์ถาววัฒนาการถ้วน ๕๐๐๐ พรรษา ให้เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่อมรเทพดามนุษย์ กระทำสักการบูชาไปภายหน้า แล้วทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลนี้ให้ไปถึงผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธปฏิมากร ทั้งผู้บรรจุพระบรมธาตุนี้ไว้ แลให้ทั่วไปแก่สรรพสัตว์ ให้อนันตจักรวาล จงเป็นปัจจัยแก่พระบรมาภิเศกสมโพธิญาณในอนาคตกาลโน้นเถิด”
บรรณานุกรม
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร : กรุงเทพฯ . ๒๕๑๗
ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐ เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผนิตเดช พระเจ้านครน่านให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร : พระนคร. ๒๔๖๑

(จำนวนผู้เข้าชม 345 ครั้ง)


Messenger