...

แท่นแก้วสัตภัณฑ์ฐานชุกชี
แท่นแก้ว/สัตภัณฑ์/ฐานชุกชี
วัสดุ : ไม้ ลงรัก ปิดทอง ล่องชาด ประดับกระจก
แบบศิลปะ/อายุสมัย : ศิลปะล้านนา พื้นเมืองน่าน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ (๑๐๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว)
ประวัติ : เป็นของที่อยู่คู่หอคำน่านมาแต่เดิม

แท่นแก้ว หมายถึง ฐานชุกชีที่อยู่ใกล้ผนังวิหาร ใช้เป็นที่วางพระพุทธรูป สัตตภัณฑ์ ในบริบททางวัฒนธรรมล้านนาหมายถึง เชิงเทียนที่ใช้ในการบูชาพระประธานในวิหาร แบบแรกมีลักษณะคล้ายขั้นบันไดซึ่งมีที่สำหรับปักเทียนลดหลั่นกันลงมาได้ ๗-๙ ขั้น และแบบที่เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วซึ่งจะมีที่สำหรับปักเทียนไล่จากยอดถึงฐานทั้งสองด้านรวม ๗ ที่

ลักษณะของแท่นฐานที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านในปัจจุบัน เป็นลักษณะแท่นไม้ ๒ ชั้น แบบขั้นบันได ประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก ทาสี ติดกระจก ด้านข้างตกแต่งด้วยพญานาคขนาบทั้ง ๒ ข้าง ส่วนกลางลำตัวถึงหางหายไป โดยจากภาพถ่ายเก่าสูงขึ้นไปเป็น ๕ ชั้น

จากเอกสารลายพระหัตถ์พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา คราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ และได้ประทับแรมที่หอคำนครน่าน วันที่ ๑๒-๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้บรรยายห้องโถงไว้ ความว่า “...ต่อเข้าไปเป็นห้องรับแขกใหญ่กว้างมาก ตั้งเก้าอี้จัดเป็นที่รับแขก มีโต๊ะเก้าอี้ล้อมเป็นหย่อมๆ ไป ๔ หย่อม ทางฝาผนังด้านหุ้มกลองมีบุษบกรูปอย่างชาวเหนือตั้งพระพุทธรูปมีเครื่องบูชา...”

ภาพถ่ายที่แสดงแท่นฐานในอดีต คือ ภาพงานพระศพเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ปรากฏภาพแท่นฐานอยู่เบื้องหลังพระโกศโถของเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เป็นแท่นฐานขนาดใหญ่ มีฉัตรประดับอยู่เหนือสุดปลายฉัตรจรดเพดาน ตั้งพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี พร้อมพระพุทธรูปและรูปเคารพต่างๆ โดยมีขนาดความสูงของแท่นประมาณขอบประตู

จากคำบอกเล่าของเจ้าลัดดา (หมัดคำ) ณ น่าน ธิดาคนสุดท้องของเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ในนิตยสาร Hello! ฉบับที่ ๑๐ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยความตอนหนึ่งว่า “...มีบัลลังก์อยู่อย่างตอนนี้ ก็วางพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่แล้ว เวลามีงานวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ก็เชิญพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ออกมาตั้ง..”

เอกสารอ้างอิง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน. แท่นบัลลังก์หรือแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป. เอกสารอัดสำเนา.
"สัตตภัณฑ์ (เชิงเทียนรูปเขาสัตตภัณฑ์) ." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม ๑๓. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒: ๖๗๕๘-๖๗๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 382 ครั้ง)


Messenger