...

ประชาธิปไตยสร้างชาติ ๒๔๘๓
เหรียญ “ประชาธิปไตยสร้างชาติ ๒๔๘๓”
เหรียญที่ระลึกในงานแสดงเศรษฐกรรม พ.ศ. ๒๔๘๓
     เหรียญ “ประชาธิปไตยสร้างชาติ ๒๔๘๓” เป็นเหรียญกลม ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูป อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมข้อความ “๒๔๘๓” และ “ประชาธิปไตยสร้างชาติ” ด้านหลังมีข้อความว่า “ที่ระลึกในงานแสดงเศรษฐกรรม พ.ศ.๒๔๘๓ ให้ไว้แก่คณะกรมการจังหวัดน่าน” ล้อมรอบด้วยพวงมาลัยลอเรล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ และยังมีความหมายเกี่ยวข้องกับความเป็นอมตะ ความบริสุทธิ์ของพิธีกรรม ความเจริญรุ่งเรือง และสุขภาพ
.
      ขนาดของเหรียญ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕.๕ เซนติเมตร หนา ๐.๒ เซนติเมตร เดิมเป็นของคณะกรมการจังหวัดน่าน มอบให้
.
      รูปแบบของเหรียญสันนิษฐานว่าได้ต้นแบบมาจาก “เหรียญสร้างชาติ” ที่สร้างเพื่อฉลองวันชาติ และพร้อมกับการทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งกระทำขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นรูปใบเสมา มีห่วง ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อยู่เหนือพื้นธงชาติ ด้านหลังเขียนข้อความว่า “สร้างชาติ” หน่วยงานที่ออกแบบเหรียญคือกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร จัดทำขึ้นเพื่อแจกข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ นักเรียน โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล
.
      งานแสดงเศรษฐกรรม สันนิษฐานว่า คือ งานการแสดงกสิกรรมและพาณิชยการ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นงานเกษตรแห่งชาติในปัจจุบัน หรืออาจจะเป็น งานแสดงเศรษฐกรรมในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๓
.
      เหรียญ “ประชาธิปไตยสร้างชาติ ๒๔๘๓” เหรียญที่ระลึกในงานแสดงเศรษฐกรรม พ.ศ. ๒๔๘๓ สันนิษฐษนว่าสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกใน “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นยุครุ่งเรืองของ งานฉลองรัฐธรรมนูญ งานรื่นเริงปีใหม่ และ งานฉลองวันชาติ อันเป็นปีเดียวกับที่มีการเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยงานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นอย่างใหญ่กินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณสวนสัตว์เขาดินวนา ตลอดจนลานพระราชวังดุสิตไปจรดสวนอัมพร
.
      วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ คือ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรรู้จัก และเข้าใจความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย เป็นช่วงที่มีงานรัฐพิธี และมีเทศกาลเฉลิมฉลองขนาดใหญ่เป็นเวลาหลายวัน บรรยากาศภายในงานมีการจัดกิจกรรมและการแสดงต่างๆ มากมาย ทั้งของหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ พร้อมของภาคเอกชน
.
      สำหรับปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ถือว่าประเทศไทยได้ปกครองระบอบรัฐธรรมนูญจนมาบรรจบครบรอบปีที่ ๘ รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาม หลวงพิบูลสงคราม จึงจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นภายใน ณ บริเวณเขาดินวนา สวนอัมพร และสนามเสือป่า มีทั้งสิ้น ๗ วัน ได้แก่ วันที่ ๘-๑๔ ธันวาคม ขณะงานเฉลิมฉลองภายนอกจะอยู่บริเวณท้องสนามหลวง มีทั้งสิ้น ๕ วัน ได้แก่ วันที่ ๘ - ๑๒ ธันวาคม ความพิเศษของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี พ.ศ. ๒๔๘๓ นั่นคือ งานแสดงบางส่วนจะจัดต่อเนื่องไปจวบจนงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนจากวันที่ ๑ เมษายนมาเป็น ๑ มกราคมในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปฐมฤกษ์ เฉกเช่น งานแสดงเศรษฐกรรมและกสิกรรม
.
      โครงการงานแสดง “กองเศรษฐกรรม” งานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๓ ประกอบไปด้วยแผนกต่างๆ ดังนี้ แผนกเกษตรและการประมง แผนกเจ้าท่า แผนกชลประทาน แผนกตลาดนัด แผนกป่าไม้ แผนกราชทัณฑ์ แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกสหกรณ์ แผนกส่งเสริมการค้าและท่องเที่ยว แผนกหอการค้าไทย แผนกอุตสาหกรรม และแผนกอาชีวศึกษา โดยมีนายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี หัวหน้ากองเศรษฐกรรม โดยกระทรวงเศรษฐการ คือ กระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
เอกสารอ้างอิง
     กองเศรษฐกรรม. บันทึกความก้าวหน้าของหน่วยราชการที่มาร่วมแสดงในกองเศรษฐกรรม งานฉลองรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : กองเศรษฐกรรม. ๒๔๘๓.
     ศรัญญู เทพสงเคราะห์. งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่ เพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ. เข้าถึงได้โดย https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1164
     อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. ท่านผู้หญิงประดิษฐ์มนูธรรมกับการประกวดเคหสถานในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483. สถาบันปรีดี พนมยงค์. เข้าถึงได้โดย https://pridi.or.th/th/content/2022/12/1372





(จำนวนผู้เข้าชม 2095 ครั้ง)


Messenger