...

วันสังขานล่อง
วันสังขานล่อง
---ในปี ๒๕๖๖ นี้ วันสังขานต์ล่องตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๖
---เทศกาลสงกรานต์นี้ชาวล้านนาเรียกว่า ปเวณีปีใหม่ หรือปาเวณีปีใหม่ (อ่าน "ป๋าเวนีปี๋ใหม่") ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า "ประเพณีสงกรานต์" ในช่วงเทศกาลนี้ซึ่งกินเวลา ๕ วัน ประชาชนจะหยุดงานทั้งสิ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้ ทั้งในแง่ศาสนาและพิธีกรรมโดยตลอด
---เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนานั้นจะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันสังกรานต์ล่อง หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เสมอไป
---วันสังกรานต์ล่อง (อ่าน "วันสังขานล่อง") คือ วันมหาสงกรานต์ ต้นเค้าของคำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สงกรานติ" ซึ่งออกเสียงแบบล้านนาว่า "สัง-ขาน" ทั้งนี้ในการเขียนด้วยอักษรล้านนานั้นอาจเขียนหลากกันไปเป็น ส์กุรานส์ขาน สังขาน สังกราน หรือ สังขราน ซึ่งต่างก็ออกเสียงเหมือนกัน จึงทำให้มีผู้เข้าใจว่าเป็น "สังขาร" ได้ด้วย และวันสังกรานต์ล่อง นี้ คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีนจะย่างเข้าสู่ราศีเมษ
---ตามความเชื่อแบบล้านนานั้น กล่าวกันว่าในตอนเช้ามืดของวันนี้ "ปู่สังกรานต์" หรือ "ย่าสังกรานต์" จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดง สูบกล้องยาเส้น สยายผม ล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสังกรานต์นี้จะนำเอาสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนาตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืน จุดประทัด หรือทำให้เกิดเสียงดังด่างๆ นัยว่าเป็น "การไล่สังกรานต์" และถือกันว่าปืนที่ใช้ยิงขับปู่หรือย่าสังกรานต์แล้วนั้นจะมีความขลังมาก
---ในวันนี้ตั้งแต่เช้าตรู่จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดมีการซักเสื้อผ้าที่สามารถซักได้ ส่วนที่นอนหรือสิ่งที่ชักล้างไม่ได้ก็จะนำออกไปตากหรือปัดฝุ่นเสีย ในบริเวณบ้านก็จะเก็บกวาดและเผาขยะมูลฝอยต่างๆ บรรดาสตรีก็จะมีการดำหัวหรือสระผมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเมื่อสระผมแล้วก็จะต้องเงยหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้ และทัดดอกไม้ที่เป็นนามของปีของแต่ละปี เสื้อผ้าที่นุ่งห่มก็จะเป็นเสื้อผ้าใหม่ฝ่ายพ่อบ้านก็จะนำเอาพระพุทธรูป พระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระหรือสรงด้วยน้ำอบน้ำหอม หรือ น้ำเข้าหมิ่นส้มป่อย ส่วนดอกไม้บูชาพระซึ่งมักจะเป็นยอดของต้นหมากผู้-หมากเมียใน หม้อไหดอก หรือแจกันนั้นก็จะเปลี่ยนใหม่ด้วย
 ---และในวันนี้เช่นกันที่ผู้ใหญ่บางท่านอาจเรียกลูกหลานมาพร้อมกัน แล้วให้หันหน้าไปตามทิศที่โหรกำหนดไว้เพื่อความสวัสดี แล้วกล่าวคำว่า "สัพพะเคราะห์ สัพพะอุบาทว์ สัพพะพยาธิโรคา ทั้งมวลจุ่งตกไพกับสังกรานต์ในวันนี้ยามนี้เน่อ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะตัวเองหรือลูกหลานทุกคน และบางท่านจะให้ลูกหลานเอาฟักเขียวหรือฟักทองไปปลูกและใช้มูลควายตากแห้งเป็นปุ๋ย โดยบอกเด็กว่า ปู่ย่าสังกรานต์พึงใจที่ได้เห็นลูกหลานปลูกฟัก และทั้งนี้กล่าวว่าผู้ที่ปลูกพักนั้นก็จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดด้วย
---ในวันสังกรานต์ล่องนี้จะมีการปัดกวาดบ้านช่อง ซักผ้าห่ม ตากที่นอนหมอนมุ่ง และสระผมแล้วหันหน้าไปตามทิศเพื่อให้เสนียดจัญไรตกไปด้วย การเล่นสาดน้ำนั้นก็จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนสิ้นสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์
 ---นอกจากนี้แล้ว ในเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ นิยมจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง เช่น พระพุทธสิหิงค์และพระเสดังคมณีไปตามถนนสายต่างๆ แล้วนำไปประดิษฐานไว้เพื่อให้ประชาชนได้เข้านมัสการสรงน้ำพระพุทธรูปดังกล่าวด้วย
ที่มา
"ปีใหม่ (สงกรานต์)." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 3834-3841.

(จำนวนผู้เข้าชม 3064 ครั้ง)


Messenger