พุทธรูปเจ้าองค์นี้พ่อเจ้าฟ้าหลวงสร้างไว้
องค์ความรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
เรื่อง “พุทธรูปเจ้าองค์นี้พ่อเจ้าฟ้าหลวงสร้างไว้...”
--- พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะล้านนา พื้นเมืองน่าน
อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง
ขนาด ตักกว้าง ๒๒ เซนติเมตร สูง ๖๓ เซนติเมตร
จากวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
--- องค์พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัยบนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ พระรัศมีเป็นเปลวสูง รองรับด้วยอุษณีษะ พระเศียรเรียบเกลี้ยงไม่มีขมวดพระเกศา พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งเป็นสัน พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียวบาง พระกรรณยาวทำเป็นแนวเส้นคล้ายลายก้านขดม้วนเข้าทางด้านใน พระศอเป็นปล้อง ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรทำเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรงยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน บริเวณขอบฐานด้านล่างมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย จำนวน ๓ บรรทัด ความว่า “(พระ) พุทธรูปเจ้าองค์นี้ พ่อเจ้าฟ้าหลวง สร้างไว้ หื้อเป็นที่ไหว้สาสักการบูชาแห่งคนแลเทวดาทั้งหลาย ไปนานตราบ ๕๐๐๐ พระวัสสา แล นิพฺพานํ ปจฺจโย โหตุ”
--- พระพุทธรูปองค์นี้ จากลักษณะพระพักตร์ แนวชายจีวร และสัดส่วนของฐาน คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน วัดบุญยืน อำเภอเวียงสา สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นโดยช่างชาวเมืองน่านกลุ่มเดียวกัน
--- จากเนื้อความในจารึก แม้ว่าจะไม่ได้ระบุศักราชที่สร้าง แต่ได้มีการจารึกนามผู้สร้างว่า “พ่อเจ้าฟ้าหลวง” สร้างไว้ ซึ่งในที่นี้หมายถึง "เจ้าอัตถวรปัญโญ" เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๗ ครองเมืองน่านระหว่าง พุทธศักราช ๒๓๒๙ - ๒๓๕๓ (รวม ๒๕ ปี) ในสมัยของเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นช่วงที่เมืองน่านได้ขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในปีพุทธศักราช ๒๓๓๑ เจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (รัชกาลที่ ๑) ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอัตถวรปัญโญ เป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน” กลับขึ้นมาครองเมืองน่าน และต่อมาตำนานเมืองน่าน ได้เรียกพระนามว่า “(สมเด็จ) เจ้าฟ้าหลวง” จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยของเจ้าอัตถวรปัญโญ
--- ตามพงศาวดารเมืองน่าน ได้กล่าวว่าในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ได้มีการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเมืองน่าน โดยการสร้างและซ่อมแซมวัดวาอารามตลอดจนพระพุทธรูปต่างๆ เช่น พุทธศักราช ๒๓๓๒ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุแช่แห้ง, พุทธศักราช ๒๓๓๖ สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด วัดศรีบุญเรือง, พุทธศักราช ๒๓๔๐ สร้างวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา,พุทธศักราช ๒๓๕๐ สร้างทิพย์เจดีย์และศาลานางหย้อง วัดพระธาตุช้างค้ำฯ เป็นต้น
--- อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาในสมัยของเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นช่วงที่ได้รับการทำนุบำรุงให้มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งช่วงหนึ่งเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าเมืองน่านในชั้นหลังทุกพระองค์ต่างก็ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่ปรากฏ อันได้แก่ วัดวาอาราม พระพุทธรูป สิ่งของหรือเครื่องใช้ทางศาสนาต่างๆ เช่น หีบพระธรรม คัมภีร์ใบลาน ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ทั้งในเมืองน่าน และต่างอำเภอ อันเป็นขอบเขตการปกครองนครน่านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๓๗.
- สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน. พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำ. ๒๕๕๗.
- สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน. พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. ๒๕๕๗.
- ฮันส์ เพนธ์ และคณะ. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๕ จารึกในพิพิธภัณฑ์ฯ น่าน และจารึกเมืองน่านที่น่าสนใจ. คลังข้อมูลจารึกล้านนา, ๒๕๔๔. (เอกสารอัดสำเนา)
เรื่อง “พุทธรูปเจ้าองค์นี้พ่อเจ้าฟ้าหลวงสร้างไว้...”
--- พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะล้านนา พื้นเมืองน่าน
อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง
ขนาด ตักกว้าง ๒๒ เซนติเมตร สูง ๖๓ เซนติเมตร
จากวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
--- องค์พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัยบนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ พระรัศมีเป็นเปลวสูง รองรับด้วยอุษณีษะ พระเศียรเรียบเกลี้ยงไม่มีขมวดพระเกศา พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งเป็นสัน พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียวบาง พระกรรณยาวทำเป็นแนวเส้นคล้ายลายก้านขดม้วนเข้าทางด้านใน พระศอเป็นปล้อง ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรทำเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรงยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน บริเวณขอบฐานด้านล่างมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย จำนวน ๓ บรรทัด ความว่า “(พระ) พุทธรูปเจ้าองค์นี้ พ่อเจ้าฟ้าหลวง สร้างไว้ หื้อเป็นที่ไหว้สาสักการบูชาแห่งคนแลเทวดาทั้งหลาย ไปนานตราบ ๕๐๐๐ พระวัสสา แล นิพฺพานํ ปจฺจโย โหตุ”
--- พระพุทธรูปองค์นี้ จากลักษณะพระพักตร์ แนวชายจีวร และสัดส่วนของฐาน คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน วัดบุญยืน อำเภอเวียงสา สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นโดยช่างชาวเมืองน่านกลุ่มเดียวกัน
--- จากเนื้อความในจารึก แม้ว่าจะไม่ได้ระบุศักราชที่สร้าง แต่ได้มีการจารึกนามผู้สร้างว่า “พ่อเจ้าฟ้าหลวง” สร้างไว้ ซึ่งในที่นี้หมายถึง "เจ้าอัตถวรปัญโญ" เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๕๗ ครองเมืองน่านระหว่าง พุทธศักราช ๒๓๒๙ - ๒๓๕๓ (รวม ๒๕ ปี) ในสมัยของเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นช่วงที่เมืองน่านได้ขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในปีพุทธศักราช ๒๓๓๑ เจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ (รัชกาลที่ ๑) ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอัตถวรปัญโญ เป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน” กลับขึ้นมาครองเมืองน่าน และต่อมาตำนานเมืองน่าน ได้เรียกพระนามว่า “(สมเด็จ) เจ้าฟ้าหลวง” จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยของเจ้าอัตถวรปัญโญ
--- ตามพงศาวดารเมืองน่าน ได้กล่าวว่าในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ ได้มีการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในเมืองน่าน โดยการสร้างและซ่อมแซมวัดวาอารามตลอดจนพระพุทธรูปต่างๆ เช่น พุทธศักราช ๒๓๓๒ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุแช่แห้ง, พุทธศักราช ๒๓๓๖ สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด วัดศรีบุญเรือง, พุทธศักราช ๒๓๔๐ สร้างวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา,พุทธศักราช ๒๓๕๐ สร้างทิพย์เจดีย์และศาลานางหย้อง วัดพระธาตุช้างค้ำฯ เป็นต้น
--- อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาในสมัยของเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นช่วงที่ได้รับการทำนุบำรุงให้มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งช่วงหนึ่งเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าเมืองน่านในชั้นหลังทุกพระองค์ต่างก็ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่ปรากฏ อันได้แก่ วัดวาอาราม พระพุทธรูป สิ่งของหรือเครื่องใช้ทางศาสนาต่างๆ เช่น หีบพระธรรม คัมภีร์ใบลาน ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ทั้งในเมืองน่าน และต่างอำเภอ อันเป็นขอบเขตการปกครองนครน่านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๓๗.
- สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน. พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำ. ๒๕๕๗.
- สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน. พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. ๒๕๕๗.
- ฮันส์ เพนธ์ และคณะ. ประชุมจารึกล้านนา เล่ม ๕ จารึกในพิพิธภัณฑ์ฯ น่าน และจารึกเมืองน่านที่น่าสนใจ. คลังข้อมูลจารึกล้านนา, ๒๕๔๔. (เอกสารอัดสำเนา)
(จำนวนผู้เข้าชม 1086 ครั้ง)