...

๙๑ ปี เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย
๙๑ ปี เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันคล้ายวันถึงแก่พิราลัย เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย
มหาอำมาตย์โท เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าน้อย มหาพรหม ณ น่าน) ม.ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว., ว.ป.ร. ๓ นายพลตรี ราชองครักษ์พิเศษ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๔ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของน่าน ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศ ในปี ๒๔๗๕ และยกเลิกระบบเจ้าผู้ครองนคร
เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เป็นโอรสที่ ๓ ของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชฏฐมหันต์ ชัยนันทมหาราชวงศาธิบดี เจ้านครน่าน มารดาชื่อเจ้าหญิงขอดแก้ว ประสูติในสมัยรัชกาลที่ ๓ ณ บ้านช้างเผือก ตำบลเวียงเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๘๙ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีมะเมีย มีนามเดิมว่า "เจ้าน้อย มหาพรหม ณ น่าน"
-เมื่อมีชนมายุได้ ๑๗ ปี บิดาได้มอบให้เป็นศิษย์พระสังฆราชนันทชัย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช้างค้ำ เพื่อให้ศึกษาข้อปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา และได้บรรพชาสามเณรอยู่ที่วัดพระธาตุช้างค้ำ ๒ พรรษา ถึง
-พ.ศ.๒๔๐๗ ได้ลาจากสมณเพศ เพื่อตามบิดาลงไปเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร ทูลเกล้าฯ ถวายช้างพลายคำหมื่น
-พ.ศ.๒๔๐๙ เสกสมรสกับเจ้าหญิงศรีโสภา ซึ่งเป็นธิดาของพระยาวังขวา (คำเครื่อง) และเจ้าหญิงอุสา เจ้ามหาพรหมสุรธาดามีโอรสธิดากับเจ้าศรีโสภา รวม ๘ คน คือ โอรส ๖ คน และธิดา ๒ คน
-พ.ศ.๒๔๒๔ เป็นหัวหน้าคุมเครื่องราชบรรณาการลงไปทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ ในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี ใน พ.ศ.๒๔๒๕
-พ.ศ.๒๔๓๒ เป็นหัวหน้าควบคุมกำลังพล และช้างปราบปรามกบฏฮ่อ
-พ.ศ.๒๔๓๓ รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าราชบุตร
-พ.ศ.๒๔๓๔ จัดการตั้งบ้านเมืองที่หลวงน้ำทา และเมืองภูคา ติดต่อกับสิบสองปันนา
-พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราวิจิตราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ ๕ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.))
-พ.ศ.๒๔๓๖ รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าราชวงศ์ ในงานรัชฎาภิเษก และได้รับพระราชทานตราช้างเผือกชั้นที่ ๔ ภูษณาภรณ์ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๔ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)) กับเหรียญรัชฎาภิเษก
-พ.ศ.๒๔๔๓ รับราชการตำแหน่งเสนามหาดไทยจังหวัดน่าน และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าอุปราช ได้รับพระราชทานตรานิภาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๓ ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.))
-พ.ศ.๒๔๔๘ ได้รับพระราชยศเป็นนายพันโทพิเศษในกรมทหารบกราบที่ ๑๘ และนำเครื่องราชบรรณาการลงไปน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในงานฉลองพระบรมรูปทรงม้า ณ พระราชวังดุสิต
-พ.ศ.๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ ๒ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
-พ.ศ.๒๔๕๑ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๒ ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)
-พ.ศ.๒๔๕๔ รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์เอก และเลื่อนยศเป็นนายพันเอกพิเศษในกรทหารบก ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๒ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
-พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นมหาอำมาตย์ตรี ได้รับพระราชทานตราจุลวราภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๒ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๒ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.))
-พ.ศ.๒๔๖๑ รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้เลื่อนยศเป็นนายพลตรีพิเศษในกรมทหารบก และได้รับพระราชทานสายสะพายตราปถมาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๑ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ ๑ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย)
-พ.ศ.๒๔๖๒ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้ามหาพรหมสุรธาดา นันทบุราธิวาศวงศ์ บรมราชประสงค์สฤษดิรักษ์ นิตยสวามิภักดิ์อาชวาศัย ประสาสนนัยวิจิตร กิติคุณาดิเรก เอกโยนกมหานคราธิบดี เจ้าผู้ครองนครน่าน และได้รับพระราชทานยศเสือป่าเป็นนายกองเอก ในกองเสือป่า จังหวัดน่าน
-พ.ศ.๒๔๖๓ เลื่อนยศเป็นมหาอำมาตย์โท
-พ.ศ.๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานสายสะพายตราปถมาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๑ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ ๑ ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.))
-พ.ศ.๒๔๖๘ ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
-พ.ศ.๒๔๖๙ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพ ณ เมืองเชียงใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้เป็นผู้อัญเชิญพระขวัญในนามของเจ้าประเทศราชในมณฑลพายัพ และได้รับพระราชทานสายสะพายตรามหาปรมาภรณ์ช้างเผือกชั้นสูงสุด (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก)
เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ป่วยโรคชรา ถึงพิราลัยวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๔ เวลา ๑๖.๐๐ น.  สิริชนมายุได้ ๘๕ ปี
 ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้ามหาพรหมสุรธาดา (น้อย มหาพรหม ณ น่าน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์โทพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศคิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เสด็จแทนพระองค์ พร้อมด้วยเจ้าพนักงานกรมภูษามาลา กรมสนมพลเรือน แผนกพระราชกุศล และแผนกกระบวนอิสสริยยศ
 วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๔ (พ.ศ.๒๔๗๕) เวลาบ่าย เจ้าพนักงานโดยสารรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีเด่นชัยวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ แล้วขึ้นรถยนต์ต่อไปถึงจังหวัดน่าน วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานจัดโกศโถประกอบศพ มีฐานตั้งรองโกศ ๑ ชั้น พร้อมด้วยเครื่องอิสริยยศ ฉัตรเบญจาตั้ง ๔ คัน เจ้าภาพบำเพ็ญการกุศล มีประโคมกลองชะนะ ๑๐ จ่าปี่ ๑ ตามเวลา
 ครั้งวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๕ เจ้าพนักงานยกโกศศพลงเปลื้องเสร็จแล้วยกขึ้นตั้งบนจิตกาธาน ณ สุสานดอนชัย ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ ทรงทอดผ้าไตรของหลวง ๑๐ ไตร กับพระราชทานเงิน ๑ ชั่ง พระสงฆ์บังสุกุล อนุโมทนา เจ้าพนักงานเชิญหีบเพลิงและเครื่องพระราชทานเพลิง เข้าไปถวายผู้แทนพระองค์ทรงจุดเพลิงพระราชทานพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานของเจ้านครน่าน เจ้าพนักงานสุมอัฐิไว้คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเจ้าพนักงานประมวลแปรรูปปิดคลุมไว้ เจ้าภาพบำเพ็ญกุศลสามหาบแล้ว เจ้านายบุตรหลานเก็บอัฐิไปทำการกุศลต่อไปเป็นเสร็จการ
เอกสารอ้างอิง
ประวัติ มหาอำมาตย์โท และนายพลตรีเจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน. โรงพิมพ์ศรีหงส์ มุมถนนอุณากรรณ. ๒๔๘๐.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๘ หน้า ๑๘๘๘ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๗๔ เข้าถึงได้โดย http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/1888.PDF
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๘ หน้า ๔๘๗๖ – ๔๘๗๘ วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๗๕  เข้าถึงได้โดย http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/D/4876.PDF







(จำนวนผู้เข้าชม 2219 ครั้ง)


Messenger