จารึกและลวดลายบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน
เรื่อง “จารึกและลวดลายบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน”
--- หีบพระธรรม หรือ หีดธัมม์ (หีดธรรม) ในล้านนา เป็นเครื่องใช้สอยอันเนื่องในพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นหีบหรือกล่องไม้ขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกหรือพระธรรมในลักษณะคัมภีร์ใบลานที่พระสงฆ์ใช้สำหรับเทศน์ หีบพระธรรมประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนตัวหีบ ส่วนฐาน และส่วนฝา ลักษณะรูปทรงของหีบพระธรรมมักมีลักษณะเป็นทรงลุ้งซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างฐานสอบเข้า ส่วนปากหีบผายออก มีฝาครอบปิดด้านบนแตกต่างกัน ได้แก่ ฝาตัด ฝาคุ่ม และฝาเรือนยอด นอกจากนี้ยังมีตู้พระธรรมซึ่งเป็นที่นิยมในภาคกลางที่พบในล้านนาเช่นกัน โดยมีลักษณะเป็นตู้ที่เปิดจากด้านหน้า
--- หีบพระธรรมวัดบุญยืน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย กำหนดอายุสมัยจากจารึกพุทธศักราช ๒๓๓๘ ศิลปะแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ลงรักปิดทอง มีขนาดกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๗๑ เซนติเมตร สูง ๑๒๒.๕ เซนติเมตร ลักษณะเป็นหีบทรงลุ้ง ฝาตัด ฐานปัทม์ สลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับแสดงภาพเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก ประกอบด้วยรูปบุคคล รูปสัตว์ และลวดลายพันธุ์พฤกษา มีจารึกอักษรธรรมล้านนาระบุผู้สร้างและปีที่สร้าง พระสาราธิคุณ เจ้าอาวาสวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ให้ยืมจัดแสดง ปัจจุบันหีบพระธรรมนี้จัดแสดงอยู่ภายในห้องประณีตศิลป์ ชั้นบนอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
--- หีบพระธรรมวัดบุญยืนสลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับ ส่วนฐานปัทม์ประดับลวดลายเครือดอก ส่วนตัวหีบแสดงภาพเล่าเรื่องรูปบุคคล และรูปสัตว์ ประกอบลวดลายพันธุ์พฤกษาทั้งสี่ด้าน ส่วนด้านหน้าที่สำคัญที่สุดบริเวณฝามีจารึก ตัวหีบสลักภาพเล่าเรื่อง “สิริจุฑามณีชาดก” ส่วนตัวหีบด้านซ้ายสลักรูปบุคคลถือพระขรรค์ ส่วนด้านหลังของตัวหีบสลักภาพบุคคลต่อสู้กันสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพเล่าเรื่องในชาดก และส่วนด้านขวาของตัวหีบเป็นภาพยักษ์ถือพระขรรค์ โดยภาพสลักทั้งสี่ด้านสลักอยู่ภายในกรอบห้าเหลี่ยมบริเวณมุมทั้งสี่ของกรอบประดับลวดลายในกรอบสามเหลี่ยม บริเวณส่วนฝานอกจากด้านหน้าที่มีจารึก สลักเป็นแถวลายรูปสัตว์ในลักษณะเคลื่อนไหววิ่งหยอกเล่นกัน
--- ภาพสลักเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก แสดงรูปบุคคลนั่งอยู่บนแท่น ตรงกลางภาพ มีรูปบุคคลที่มีกายเพียงครึ่งซีกนั่งอยู่ทางเบื้องขวาและมารอีก ๒ ตนกำลังเลื่อยแบ่งร่างกาย ตอนบนสุดเป็นภาพเทวดาประณมมือ กรอบภาพนอกสุดเป็นแนวลายไข่ปลา ที่มุมทั้งสี่ทำเป็นลายดอกไม้และเถาไม้ การจัดองค์ประกอบได้สัดส่วนและสมดุลกันทั้งสองด้าน โดยเน้นจุดสนใจอยู่ที่กึ่งกลางของภาพ ส่วนพื้นที่ว่างเบื้องหลังสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา ภาพดังกล่าว แสดงถึงเรื่องราวการบำเพ็ญทานของพระสิริจุฑามณีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งรจนาขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย บุคคลตรงกลางภาพคงหมายถึงพระโพธิสัตว์ในชาติปางก่อนที่จุติลงมาเป็นพระเจ้าสิริจุฑามณี พระเจ้ากรุงพาราณสี ผู้ปรารถนาพระโพธิญาณเสียสละบำเพ็ญทานด้วยการอุทิศร่างกายของพระองค์แด่พระอินทร์ผู้แปลงร่างลงมาเป็นพราหมณ์พิการ มีร่างกายเพียงซีกเดียว เพื่อขอร่างกายของพระเจ้าสิริจุฑามณีอีกครึ่งหนึ่งนำมาติดเข้ากับร่างตน รูปมารทั้งสองคือพระยามารที่ผุดขึ้นมาจากธรณีภายหลังที่ทรงอธิษฐานอุทิศพระวรกายมาขอรับส่วนแบ่งที่เหลือ และช่วยกันเลื่อยพระวรกายออกเป็น ๒ ส่วน ระหว่างนั้น เหล่าเทพยดาซึ่งแสดงแทนด้วยรูปเทวดาประณมมือทางตอนบนของภาพต่างแซ่ซ้องสาธุการและแสดงการคารวะการบำเพ็ญทานในครั้งนี้
--- จารึกบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน เขียนด้วยรักสีแดงรวม ๖ บรรทัดที่ขอบทางด้านหน้าของส่วนฝา ระบุว่า พระเถระชื่อทิพพาลังการ และเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าอัตถวรปัญโญ ผู้สร้างวัดบุญยืน) ให้สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๕๗ หรือพุทธศักราช ๒๓๓๘
บรรทัดที่ ๑ ศรีสวัสดี จุฑศกพท ๑๑๕๗ ตัว ใน (ปี) โถะ สนำ กัมโพชม ขอมพิสัย เข้ามาในวัสสานอุตุ อัสยุช ปัณณรสมี ภุมวาร ไถง ไทยภาษาว่า
บรรทัดที่ ๒ ปีดับเม้า เดิอรเจียง เพ็ง เม็ง พร่ำว่า ได้วันที่ ๗ ไทก่าไก๊ ปฐมมูลศรัทธา ภายในหมายมีศรัทธาสาธุเจ้าตนชื่อทิพพาลังการ เป็นประธานแก่อันเตวาสิกชู่คน หน ศรัทธา
บรรทัดที่ ๓ อุปถัมภกภายนอก มีมหาราชหลวง เป็นประธาน แลอุปาสกแสนอาสา แสนหนังสือขานถ้วน ร้อยจ้อยหล้าอุปาสิกานางโนชา แลศรัทธา ทายกทล้า อันอยู่ในบ้านน้ำลัด ชู่คน ก็บังเกิดเจ -
บรรทัดที่ ๔ ตนาสร้างแปลงยังหีด ธรรมเทศนาลูกนี้ ไว้หื้อเป็นที่สถิตย์ ไว้ยังเตปิฎก สัมพุทธวัจนธรรมเทศนาเจ้า เพื่อบ่หื้อ เศร้าหม่นหมองเรียรายเสี้ยงแท้ดีหลี ด้วยเดชบุญรวายสี
บรรทัดที่ ๕ เยิงนี้ ขอจุ่งค้ำชูหื้อผู้ข้าทล้า ได้เถิงยัง ติวิธสุข ๓ ประการ มีนิพพานเป็นยอดแก่ผู้ข้าทล้าแท้อย่าคลาดอย่าคลา ตามมโนรถปรารถนา แห่งผู้ข้าทั้งหลายชู่ตน ชู่องค์
บรรทัดที่ ๖ ชู่ผู้ชู่คน เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ ฯ//ะ
--- เนื้อหาโดยสังเขป กล่าวว่า ในจุลศักราช ๑๑๕๗ พระสงฆ์นามว่าทิพพาลังการเป็นประธานแก่ศิษย์ทุกคน โดยมีมหาราชหลวงเป็นองค์อุปถัมภ์ พร้อมด้วยขุนนาง นางโนชา และชาวบ้านน้ำลัดมีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างหีบพระธรรมสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก โดยขอให้ได้พบสุข ๓ ประการซึ่งมีนิพพานเป็นยอด ปีที่จารึก จุลศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และตรงกับปีที่เจ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕๗ ครองเมืองน่าน พุทธศักราช๒๓๒๙ - ๒๓๕๓) ให้สร้างหอไตรขึ้นในวัดกลางเวียง (วัดบุญยืน) อักษรและภาษาที่ใช้ในจารึก ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย ภาษาถิ่น เช่นคำว่า “หีบธรรม” ใช้ว่า “หีดธรรม” นอกจากนั้นในจารึกยังได้กล่าวนามถึง “มหาราชหลวง” เข้าใจว่าคงหมายถึงตำแหน่งของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองที่กล่าวด้วยความยกย่องสรรเสริญเทียบเท่าพระมหากษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งคงหมายถึงเจ้าอัตถวรปัญโญ ส่วนนาม “สาธุเจ้าทิพพาลังการ” เข้าใจว่าเป็นพระมหาเถรที่มีความสำคัญทางคณะสงฆ์ของเมืองน่านในช่วงเวลาดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
- เด่นดาว ศิลปานนท์. เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา: ตู้และหีบพระธรรม เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.finearts.go.th/main/view/24895-เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา—ตู้และหีบพระธรรม?type1=5
- ผศ.เธียรชัย อักษรดิษฐ์ และคณะ. ลวดลายพุทธศิลป์น่าน. เชียงใหม่: สันติภาพแพ็คพริ้นท์, ๒๕๕๑.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกหีบพระธรรมวัดบุญยืน. เข้าถึงข้อมูลจาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1873
- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๓๗.
- ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สิริจุฑามณิชาดก. เข้าถึงข้อมูลจาก https://vajirayana.org/ปัญญาสชาดก/๗-สิริจุฑามณิชาดก
--- หีบพระธรรม หรือ หีดธัมม์ (หีดธรรม) ในล้านนา เป็นเครื่องใช้สอยอันเนื่องในพระพุทธศาสนา มีลักษณะเป็นหีบหรือกล่องไม้ขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกหรือพระธรรมในลักษณะคัมภีร์ใบลานที่พระสงฆ์ใช้สำหรับเทศน์ หีบพระธรรมประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนตัวหีบ ส่วนฐาน และส่วนฝา ลักษณะรูปทรงของหีบพระธรรมมักมีลักษณะเป็นทรงลุ้งซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างฐานสอบเข้า ส่วนปากหีบผายออก มีฝาครอบปิดด้านบนแตกต่างกัน ได้แก่ ฝาตัด ฝาคุ่ม และฝาเรือนยอด นอกจากนี้ยังมีตู้พระธรรมซึ่งเป็นที่นิยมในภาคกลางที่พบในล้านนาเช่นกัน โดยมีลักษณะเป็นตู้ที่เปิดจากด้านหน้า
--- หีบพระธรรมวัดบุญยืน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย กำหนดอายุสมัยจากจารึกพุทธศักราช ๒๓๓๘ ศิลปะแบบล้านนา สร้างด้วยไม้ลงรักปิดทอง มีขนาดกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๗๑ เซนติเมตร สูง ๑๒๒.๕ เซนติเมตร ลักษณะเป็นหีบทรงลุ้ง ฝาตัด ฐานปัทม์ สลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับแสดงภาพเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก ประกอบด้วยรูปบุคคล รูปสัตว์ และลวดลายพันธุ์พฤกษา มีจารึกอักษรธรรมล้านนาระบุผู้สร้างและปีที่สร้าง พระสาราธิคุณ เจ้าอาวาสวัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ให้ยืมจัดแสดง ปัจจุบันหีบพระธรรมนี้จัดแสดงอยู่ภายในห้องประณีตศิลป์ ชั้นบนอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
--- หีบพระธรรมวัดบุญยืนสลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับ ส่วนฐานปัทม์ประดับลวดลายเครือดอก ส่วนตัวหีบแสดงภาพเล่าเรื่องรูปบุคคล และรูปสัตว์ ประกอบลวดลายพันธุ์พฤกษาทั้งสี่ด้าน ส่วนด้านหน้าที่สำคัญที่สุดบริเวณฝามีจารึก ตัวหีบสลักภาพเล่าเรื่อง “สิริจุฑามณีชาดก” ส่วนตัวหีบด้านซ้ายสลักรูปบุคคลถือพระขรรค์ ส่วนด้านหลังของตัวหีบสลักภาพบุคคลต่อสู้กันสันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพเล่าเรื่องในชาดก และส่วนด้านขวาของตัวหีบเป็นภาพยักษ์ถือพระขรรค์ โดยภาพสลักทั้งสี่ด้านสลักอยู่ภายในกรอบห้าเหลี่ยมบริเวณมุมทั้งสี่ของกรอบประดับลวดลายในกรอบสามเหลี่ยม บริเวณส่วนฝานอกจากด้านหน้าที่มีจารึก สลักเป็นแถวลายรูปสัตว์ในลักษณะเคลื่อนไหววิ่งหยอกเล่นกัน
--- ภาพสลักเล่าเรื่องสิริจุฑามณีชาดก แสดงรูปบุคคลนั่งอยู่บนแท่น ตรงกลางภาพ มีรูปบุคคลที่มีกายเพียงครึ่งซีกนั่งอยู่ทางเบื้องขวาและมารอีก ๒ ตนกำลังเลื่อยแบ่งร่างกาย ตอนบนสุดเป็นภาพเทวดาประณมมือ กรอบภาพนอกสุดเป็นแนวลายไข่ปลา ที่มุมทั้งสี่ทำเป็นลายดอกไม้และเถาไม้ การจัดองค์ประกอบได้สัดส่วนและสมดุลกันทั้งสองด้าน โดยเน้นจุดสนใจอยู่ที่กึ่งกลางของภาพ ส่วนพื้นที่ว่างเบื้องหลังสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา ภาพดังกล่าว แสดงถึงเรื่องราวการบำเพ็ญทานของพระสิริจุฑามณีที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งรจนาขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย บุคคลตรงกลางภาพคงหมายถึงพระโพธิสัตว์ในชาติปางก่อนที่จุติลงมาเป็นพระเจ้าสิริจุฑามณี พระเจ้ากรุงพาราณสี ผู้ปรารถนาพระโพธิญาณเสียสละบำเพ็ญทานด้วยการอุทิศร่างกายของพระองค์แด่พระอินทร์ผู้แปลงร่างลงมาเป็นพราหมณ์พิการ มีร่างกายเพียงซีกเดียว เพื่อขอร่างกายของพระเจ้าสิริจุฑามณีอีกครึ่งหนึ่งนำมาติดเข้ากับร่างตน รูปมารทั้งสองคือพระยามารที่ผุดขึ้นมาจากธรณีภายหลังที่ทรงอธิษฐานอุทิศพระวรกายมาขอรับส่วนแบ่งที่เหลือ และช่วยกันเลื่อยพระวรกายออกเป็น ๒ ส่วน ระหว่างนั้น เหล่าเทพยดาซึ่งแสดงแทนด้วยรูปเทวดาประณมมือทางตอนบนของภาพต่างแซ่ซ้องสาธุการและแสดงการคารวะการบำเพ็ญทานในครั้งนี้
--- จารึกบนหีบพระธรรมวัดบุญยืน เขียนด้วยรักสีแดงรวม ๖ บรรทัดที่ขอบทางด้านหน้าของส่วนฝา ระบุว่า พระเถระชื่อทิพพาลังการ และเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าอัตถวรปัญโญ ผู้สร้างวัดบุญยืน) ให้สร้างขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๕๗ หรือพุทธศักราช ๒๓๓๘
บรรทัดที่ ๑ ศรีสวัสดี จุฑศกพท ๑๑๕๗ ตัว ใน (ปี) โถะ สนำ กัมโพชม ขอมพิสัย เข้ามาในวัสสานอุตุ อัสยุช ปัณณรสมี ภุมวาร ไถง ไทยภาษาว่า
บรรทัดที่ ๒ ปีดับเม้า เดิอรเจียง เพ็ง เม็ง พร่ำว่า ได้วันที่ ๗ ไทก่าไก๊ ปฐมมูลศรัทธา ภายในหมายมีศรัทธาสาธุเจ้าตนชื่อทิพพาลังการ เป็นประธานแก่อันเตวาสิกชู่คน หน ศรัทธา
บรรทัดที่ ๓ อุปถัมภกภายนอก มีมหาราชหลวง เป็นประธาน แลอุปาสกแสนอาสา แสนหนังสือขานถ้วน ร้อยจ้อยหล้าอุปาสิกานางโนชา แลศรัทธา ทายกทล้า อันอยู่ในบ้านน้ำลัด ชู่คน ก็บังเกิดเจ -
บรรทัดที่ ๔ ตนาสร้างแปลงยังหีด ธรรมเทศนาลูกนี้ ไว้หื้อเป็นที่สถิตย์ ไว้ยังเตปิฎก สัมพุทธวัจนธรรมเทศนาเจ้า เพื่อบ่หื้อ เศร้าหม่นหมองเรียรายเสี้ยงแท้ดีหลี ด้วยเดชบุญรวายสี
บรรทัดที่ ๕ เยิงนี้ ขอจุ่งค้ำชูหื้อผู้ข้าทล้า ได้เถิงยัง ติวิธสุข ๓ ประการ มีนิพพานเป็นยอดแก่ผู้ข้าทล้าแท้อย่าคลาดอย่าคลา ตามมโนรถปรารถนา แห่งผู้ข้าทั้งหลายชู่ตน ชู่องค์
บรรทัดที่ ๖ ชู่ผู้ชู่คน เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ ฯ//ะ
--- เนื้อหาโดยสังเขป กล่าวว่า ในจุลศักราช ๑๑๕๗ พระสงฆ์นามว่าทิพพาลังการเป็นประธานแก่ศิษย์ทุกคน โดยมีมหาราชหลวงเป็นองค์อุปถัมภ์ พร้อมด้วยขุนนาง นางโนชา และชาวบ้านน้ำลัดมีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างหีบพระธรรมสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก โดยขอให้ได้พบสุข ๓ ประการซึ่งมีนิพพานเป็นยอด ปีที่จารึก จุลศักราช ๑๑๕๗ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และตรงกับปีที่เจ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕๗ ครองเมืองน่าน พุทธศักราช๒๓๒๙ - ๒๓๕๓) ให้สร้างหอไตรขึ้นในวัดกลางเวียง (วัดบุญยืน) อักษรและภาษาที่ใช้ในจารึก ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย ภาษาถิ่น เช่นคำว่า “หีบธรรม” ใช้ว่า “หีดธรรม” นอกจากนั้นในจารึกยังได้กล่าวนามถึง “มหาราชหลวง” เข้าใจว่าคงหมายถึงตำแหน่งของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าเมืองที่กล่าวด้วยความยกย่องสรรเสริญเทียบเท่าพระมหากษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งคงหมายถึงเจ้าอัตถวรปัญโญ ส่วนนาม “สาธุเจ้าทิพพาลังการ” เข้าใจว่าเป็นพระมหาเถรที่มีความสำคัญทางคณะสงฆ์ของเมืองน่านในช่วงเวลาดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
- เด่นดาว ศิลปานนท์. เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา: ตู้และหีบพระธรรม เข้าถึงข้อมูลจาก https://www.finearts.go.th/main/view/24895-เครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา—ตู้และหีบพระธรรม?type1=5
- ผศ.เธียรชัย อักษรดิษฐ์ และคณะ. ลวดลายพุทธศิลป์น่าน. เชียงใหม่: สันติภาพแพ็คพริ้นท์, ๒๕๕๑.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกหีบพระธรรมวัดบุญยืน. เข้าถึงข้อมูลจาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1873
- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๓๗.
- ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สิริจุฑามณิชาดก. เข้าถึงข้อมูลจาก https://vajirayana.org/ปัญญาสชาดก/๗-สิริจุฑามณิชาดก
(จำนวนผู้เข้าชม 3110 ครั้ง)