เจดีย์วัดพญาวัด
#แอ่วเวียงผ่อวัดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
ตอน... "เจดีย์วัดพญาวัด"
--- เจดีย์วัดพญาวัด ตั้งอยู่ภายในวัดพญาวัด ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งปรากฏเฉพาะในศิลปะล้านนาระยะแรกเพียงไม่กี่แห่ง โดยปรากฏที่จังหวัดลำพูน ๒ แห่ง ได้แก่ เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี และสุวรรณเจดีย์ ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ นอกจากนั้นยังมีเจดีย์รูปแบบที่คล้ายคลึงกันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ เจดีย์กู่คำ วัดกู่คำ เวียงกุมกาม
--- เจดีย์วัดพญาวัด มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาทยอด ส่วนฐานทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๔ ชั้น ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำ และท้องไม้มีประดับลูกแก้วอกไก่ ,ส่วนเรือนธาตุ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีชั้นเรือนธาตุซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นไป ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน ด้านละ ๓ องค์ รวมทั้งหมด ๖๐ องค์ ลักษณะของซุ้มจระนำก่อเป็นวงโค้งและมีการประดับลวดลายเครือล้านนา, ส่วนยอดของเรือนธาตุ มีลักษณะเป็นทรงกรวยสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ และมีปลียอดด้านบนสุดเป็นทรงกรวยสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกัน
--- จากการศึกษาที่ผ่านมา มีข้อสันนิษฐานว่ารูปแบบของเจดีย์วัดพญาวัดนี้ อาจจะจำลองแบบมาจากเจดีย์วัดกู่กุด อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยคงนำมาสร้างขึ้นในชั้นหลัง เนื่องจากมีเทคนิคการก่อสร้างและองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่สามารถกำหนดอายุสมัยได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้แก่ การประดับลวดลายปูนปั้นแบบลายเครือเถาล้านนา การก่ออิฐซุ้มจระนำในลักษณะซุ้มโค้งก่อเรียงอิฐในแนวตั้งและหันด้านหน้าแผ่นอิฐออก เป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงเรือนธาตุ ศิลปะล้านนา ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น กู่พระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด และเจดีย์วัดโลกโมฬี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
--- นอกจากนี้ รูปแบบพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดับภายในซุ้มจระนำ ยังมีลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปในศิลปะล้านนาทั่วไป ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาทิ พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี โดยลักษณะการครองจีวร แนวรัดประคด ชายพับขอบสบงทางด้านหน้า และแนวขอบชายจีวรที่ทิ้งชายลงมาทางด้านล่างคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปางลีลาที่วัดนาปัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
--- กล่าวโดยสรุปได้ว่า จากรูปแบบทางศิลปกรรมของเจดีย์วัดพญาวัด สันนิษฐานว่าคงถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยอาจจะได้แรงบันดาลใจในการสร้างมาจากเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะพิเศษทางรูปแบบศิลปกรรมอันแตกต่างไปจากเจดีย์ในศิลปะล้านนาที่สร้างอยู่โดยทั่วไป จึงได้นำมาสร้างขึ้นไว้ที่เมืองน่าน ดังปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
--- ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์.คู่มือนำชมศิลปกรรมโบราณล้านนา. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๓.
--- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๗.
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
#โบราณสถานในจังหวัดน่าน
ตอน... "เจดีย์วัดพญาวัด"
--- เจดีย์วัดพญาวัด ตั้งอยู่ภายในวัดพญาวัด ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นหนึ่งในเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งปรากฏเฉพาะในศิลปะล้านนาระยะแรกเพียงไม่กี่แห่ง โดยปรากฏที่จังหวัดลำพูน ๒ แห่ง ได้แก่ เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี และสุวรรณเจดีย์ ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ นอกจากนั้นยังมีเจดีย์รูปแบบที่คล้ายคลึงกันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ เจดีย์กู่คำ วัดกู่คำ เวียงกุมกาม
--- เจดีย์วัดพญาวัด มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาทยอด ส่วนฐานทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๔ ชั้น ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวคว่ำ และท้องไม้มีประดับลูกแก้วอกไก่ ,ส่วนเรือนธาตุ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีชั้นเรือนธาตุซ้อนชั้นลดหลั่นขึ้นไป ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน ด้านละ ๓ องค์ รวมทั้งหมด ๖๐ องค์ ลักษณะของซุ้มจระนำก่อเป็นวงโค้งและมีการประดับลวดลายเครือล้านนา, ส่วนยอดของเรือนธาตุ มีลักษณะเป็นทรงกรวยสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ และมีปลียอดด้านบนสุดเป็นทรงกรวยสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกัน
--- จากการศึกษาที่ผ่านมา มีข้อสันนิษฐานว่ารูปแบบของเจดีย์วัดพญาวัดนี้ อาจจะจำลองแบบมาจากเจดีย์วัดกู่กุด อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยคงนำมาสร้างขึ้นในชั้นหลัง เนื่องจากมีเทคนิคการก่อสร้างและองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมที่สามารถกำหนดอายุสมัยได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้แก่ การประดับลวดลายปูนปั้นแบบลายเครือเถาล้านนา การก่ออิฐซุ้มจระนำในลักษณะซุ้มโค้งก่อเรียงอิฐในแนวตั้งและหันด้านหน้าแผ่นอิฐออก เป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งอาจจะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงเรือนธาตุ ศิลปะล้านนา ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น กู่พระเจ้าติโลกราช วัดเจ็ดยอด และเจดีย์วัดโลกโมฬี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
--- นอกจากนี้ รูปแบบพระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดับภายในซุ้มจระนำ ยังมีลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปในศิลปะล้านนาทั่วไป ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อาทิ พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี โดยลักษณะการครองจีวร แนวรัดประคด ชายพับขอบสบงทางด้านหน้า และแนวขอบชายจีวรที่ทิ้งชายลงมาทางด้านล่างคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปางลีลาที่วัดนาปัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
--- กล่าวโดยสรุปได้ว่า จากรูปแบบทางศิลปกรรมของเจดีย์วัดพญาวัด สันนิษฐานว่าคงถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยอาจจะได้แรงบันดาลใจในการสร้างมาจากเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะพิเศษทางรูปแบบศิลปกรรมอันแตกต่างไปจากเจดีย์ในศิลปะล้านนาที่สร้างอยู่โดยทั่วไป จึงได้นำมาสร้างขึ้นไว้ที่เมืองน่าน ดังปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
--- ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์.คู่มือนำชมศิลปกรรมโบราณล้านนา. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๓.
--- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๗.
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
#โบราณสถานในจังหวัดน่าน
(จำนวนผู้เข้าชม 1628 ครั้ง)