...

พระสุพรรณบัฏ










เรื่อง "พระสุพรรณบัฏ"
--- พระสุพรรณบัฏสถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเป็นพระเจ้านครน่าน พุทธศักราช ๒๔๔๖  มีลักษณะเป็นแผ่นทอง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๔.๑ เซนติเมตร ยาว ๑๔.๙ เซนติเมตร 
--- เจ้านิรมิต ธิดาเจ้าบุญตุ้ม และเจ้าคำนพ มหาวงศนันท์ (เจ้าบุญตุ้ม เป็นธิดาเจ้าราชวงศ์ หรือเจ้าสิทธิสาร ณ น่าน ผู้เป็นบุตรของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ) มอบพระสุพรรณบัฏนี้ให้กับจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยร้อยตำรวจตรีธนะพงษ์ จักกะพาก ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในขณะนั้น เป็นผู้รับมอบ 
---- ข้อความที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏ ความว่า “พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิ์กิตติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์ พระเจ้านครน่าน จงเจริญทฤฆชนมายุสุขสวัสดิ์ เทอญ”
--- พระสุพรรณบัฏนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าให้จารึกเพื่อเลื่อนฐานันดรศักดิ์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ หรือที่ชาวน่าน เรียกว่า “พระเจ้าน่าน” 
--- พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๓ มีพระนามเดิมว่า เจ้าสุริยะ ณ น่าน ประสูติเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๔  และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคชรา ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ (ปัจจุบัน ในทุกๆปีจะมีการจัดงาน “วันพระเจ้าน่าน” ณ บริเวณลานสนามหญ้าด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน)สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๗ พรรษา  พระองค์เป็นบุตรเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๒ และเจ้าสุนันทา   และทรงมีพระเชษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา ร่วมแม่เจ้ามารดา ๕ พระองค์ ได้แก่ เจ้ามหาพรหม เจ้าสิทธิสาร เจ้าบุญรังษี เจ้านางหมอกแก้ว ณ น่าน และเจ้านางคำทิพ ณ น่าน
--- พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๖๑ รวมระยะเวลา ๒๖ ปี พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาและดูแลกิจการบ้านเมืองนครน่าน ตลอดจนช่วยราชการสยามหลายครั้งหลายครา  โดยใน พ.ศ. ๒๔๔๕ คราที่เกิดกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชได้ส่งกำลังทหารจำนวน ๑,๐๐๐ คนไปช่วยปราบกบฏเงี้ยว แต่เจ้าราชบุตรเมืองแพร่หรือเจ้าน้อยยอดฟ้าบุตรของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชที่ได้แต่งงานกับเจ้าสุพรรณวดี บุตรีของเจ้าพิริยเทพวงศ์เจ้านครแพร่ มีส่วนพัวพันกับการก่อกบฏเงี้ยว เมื่อสิ้นสุดการปราบกบฏ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชไม่ได้ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่บุตรของตนแต่อย่างใด การตัดสินโทษของเจ้าราชบุตรให้เป็นไปตามระเบียบราชการ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาในเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเป็นอย่างมาก ประกอบกับที่ผ่านมาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชได้ช่วยงานราชการของสยามเป็นอย่างดี 
--- เนื้อความในประกาศเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ ความว่า
“ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล เปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๖ พรรษา ปัตยุบันกาลจันทรคตินิยม สะสะสังวัจฉระ กติกมาศ กาฬปักษ์ จตุทสีดิถีพุฒวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ พฤศจิกายนมาศ อัฏฐารสมมาสาหคุณพิเศษ บริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ฯลฯ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริห์ว่า เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาช้านาน แลได้เคยไปราชการทัพศึก มีบำเหน็จความชอบมาแต่ยังเปนตำแหน่งเจ้าราชวงษ์ในนครเมืองน่าน ครั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เปนเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ก็อุสาหปกครองบ้านเมืองต่างพระเนตร์พระกรรณ์โดยซื่อสัตย์สุจริต มีความโอบอ้อมอารี เปนที่นิยมนับถือของเจ้านายท้าวพระยา แลไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปเปนอันมาก ทั้งมีความสวามิภักดิ์ต่อราชการเปนนิตย์ แม้มีราชการสำคัญเกิดขึ้นข้างฝ่ายเหนือคราวใด เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ก็ได้พร้อมใจกับเจ้านายบุตร์หลานช่วยราชการโดยแขงแรงทุกคราวมา จนเมื่อเกิดเหตุผู้ร้ายก่อการจลาจลขึ้นในมณฑลพายัพ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นี้ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ก็ได้จัดเจ้านายบุตร์หลานแลท้าวพญาไพร่พลนครเมืองน่านช่วยปราบปรามผู้ร้าย แลเปนกำลังจัดเสบียงอาหารพาหนะส่งกองทหาร ได้รับราชการเปนที่พอพระราชหฤไทยเปนอันมาก
อนึ่ง เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทโดยฉะเพาะ แม้อยู่เมืองไกล ก็มิได้คิดแก่ความลำบาก อุสาหฝ่าทางกันดารมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเนือง ๆ ผิดกับเจ้านครเมืองน่านแต่ก่อน ๆ มา เปนเหตุให้ทรงพระกรุณาสนิทชิดชอบพระราชอัธยาไศรยเปนอันมาก
ทรงพระราชดำริห์ว่า นครเมืองน่านก็เปนนครใหญ่อันหนึ่งในหัวเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑสิมา เจ้านายที่ปกครองนครเมืองน่านต่างพระเนตร์พระกรรณ์สืบตระกูลวงษ์ต่อ ๆ กันมา ยังหาได้มีเจ้าตนใดได้เคยรับพระราชทานเกียรติยศเปนพระเจ้าประเทศราชไม่ แลบัดนี้ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ก็เจริญชนม์ไวยยิ่งกว่าบรรดาเจ้าประเทศราชทั้งปวง ทั้งมีอัธยาไศรยเปนสัตย์ธรรมมั่นคง จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเนืองนิจ แลมีความชอบความดีมาในราชการเปนอันมาก สมควรจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องอิศริยยศเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้เปนเกียรติยศแก่นครเมืองน่านแลตระกูลวงษ์สืบไปได้
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนยศถานันดรศักดิ์เจ้านครเมืองน่านขึ้นเปนพระเจ้านครเมืองน่าน มีนามตามจาฤกในสุพรรณบัตร์ว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุระมหาราชวงษา  ธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิกิติไพศาล ภูบาลบพิตร์ สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครเมืองน่าน ได้ปกป้องเจ้านายบุตร์หลานแสนท้าวพระยาลาวราษฎรในเมืองน่านแลเมืองขึ้นทั้งปวง ให้ปรากฏเกียรติยศ    เดชานุภาพสืบไป ขอจงเจริญชนมายุพรรณศุขพล ปฏิภาณคุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการ ปกป้องพระราชอาณาเขตร์ขันขสีมา โดยความซื่อตรงต่อกรุงเทพมหานคร ดำรงอยู่ยืนยาวสิ้นกาลนาน เทอญ”
--- นอกจากพระสุพรรณบัฏที่ได้จารึกเฉลิมพระนามสถาปนาเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านแล้วนั้น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ยังได้รับพระราชทานเครื่องประกอบอิสริยยศ อันได้แก่ เสื้อครุย พระชฎา สังข์เลี่ยมทองคำ ๑ หีบหมากไม้แดงหุ้มทองคำลงยา ๑  กากระบอกทองคำ ๑ กระบี่ฝักทองคำศีร์ษะนาคลงยา ๑ เสื้อเยียรบับ ๒ ผ้านุ่งเยียรบับ ๑ ผ้านุ่งเขียนทอง ๑ และเจียรบาด ๑
--- พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ นับเป็น “พระเจ้านครเมืองน่าน” พระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน นอกจากนี้พระองค์ยังได้รับพระราชทานมหามงกุฎจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าประเทศราช ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศนี้
เอกสารอ้างอิง
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน. มรดกท้องถิ่นน่านเล่มที่ ๔ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ. น่าน: องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน, ๒๕๔๗.
- ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๐ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๔๖, หน้า ๖๐๙ – ๖๑๑

(จำนวนผู้เข้าชม 1689 ครั้ง)


Messenger