...

พ.จ.น.พ.ร.ช.ก.ศ.ถ.พ.พ.ธ.จ.ลฯะ
,,,,,,,,,,ในยุคสมัยปัจจุบันเชื่อว่าทุกท่านคงจะได้เห็นการใช้อักษรย่อเพื่อบอกเล่าประโยคยาวๆ ผ่านตากันอยู่บ่อยครั้ง ชวนให้คิดถึงการใช้อักษรย่อในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ (ต่อไปจะขอใช้ว่า พระเจ้าน่าน) ขึ้นมาได้ จึงอยากชวนทุกท่านไปดูไปชมอักษรย่อที่ว่ากันครับ
,,,,,,,,,ก่อนอื่นต้องกล่าวก่อนว่าพระเจ้าน่านทรงสนับสนุนการศาสนาอยู่เสมอ ดังข้อมูลจากเจ้าขันคำ สายใจ (ณ น่าน) กล่าวถึงกิจวัตรประจำวันภายในหอคำว่า
“เมื่อพระเจ้าน่านยังมีชีวิตอยู่...เมื่อเวลาตอนเช้าจะได้ยินเสียงกลองดังขึ้นทุกวัน พอวิ่งไปดูพบว่ามีพระเดินเป็นแถวขึ้นบันไดทางทิศเหนือ.....ส่วนพระเจ้าน่านนั่งเก้าอี้รอ พอพระขึ้นมาหลานคนใดคนหนึ่งต้องแบ่งข้าวใส่ขันใบพอสมควรแล้วถือขึ้นข้างพระเจ้าน่าน [เพื่อให้พระเจ้าน่านได้ตักบาตร] แล้วพระจะเดินแถวลงบันไดทางทิศใต้ จนพระกลับหมดแล้ว[ลูกหลาน]ก็ช่วยกันเอาแขนพระเจ้าน่านคนละข้างเข้ามาในหอคำ...”
,,,,,,,,,,นอกจากนี้พระเจ้าน่านยังมีส่วนซ่อมสร้างศาสนสถานอีกหลายต่อหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือหอไตร วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งสร้างใน ร.ศ. ๑๒๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นหอพระไตรปิฏกขนาด ๘ ห้อง ยาว ๑๖ วา ๑ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สูงตั้งแต่ดินถึงอกไก่ ๑๓ วา หลังคาทำเป็นชั้นๆ ก่ออิฐทาสี เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องไม้สักทำอย่างแน่นหนา มีเพดานจั่ว ๒ ข้าง และเพดานทำด้วยลวดลายต่างๆ พระสมุห์อิน เจ้าอาวาสวัดหัวข่วงกับจีนอิ๋วจีนซางเป็นสล่าสิ้นเงิน ๑๒,๕๕๘ บาท
,,,,,,,,,,หอไตรหลังนี้เองที่บริเวณรวงผึ้ง (ใช้ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม ลักษณะเป็นแผงสามเหลี่ยมลักษณะคล้ายรวงผึ้ง จึงเป็นที่มาที่เรียกว่ารวงผึ้ง) ทำเป็นรูปครุฑพ่าห์อันเป็นตราแผ่นดินของสยาม เหนือครุฑมีอักษรย่อในกรอบสี่เหลี่ยมข้อความว่า “พ.จ.น.พ.ร.ช.ก.ศ.ถ.พ.พ.ธ.จ.ลฯะ” แปลความได้ว่า “พระเจ้าน่านพระราชกุศลถวายพระพุทธเจ้าหลวง” ซึ่งการใช้คำย่อเช่นนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาให้ความเห็นว่าไม่ได้มีการใช้อย่างสม่ำเสมอ เข้าใจว่าบางทีอาจเป็นเพราะต้องการประหยัดเนื้อที่หรือที่จะเขียนไม่พอ ดังนั้นการใช้ตัวย่อที่หอไตรวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารแห่งนี้ก็คงเกิดจากเหตุผลนี้เช่นกัน
,,,,,,,,,,หอไตรแห่งนี้สร้างขึ้นในปีเดียวกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดี ตลอดจนความจงรักภักดีระหว่างเมืองน่านกับศูนย์กลางอย่างสยามผ่านงานศิลปกรรม อย่างไรก็ตามอีก ๘ ปีต่อมา (๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑) พระเจ้าน่านก็ได้ถึงแก่พิราลัยด้วยโรคชรา ณ หอคำ
,,,,,,,,,,ดังนั้นแล้วในเดือนเมษายนของทุกปีนอกจากจะเป็นวันจักรี (๖ เมษายน) ยังเป็นวันพระเจ้าน่าน (๕ เมษายน) อีกด้วย ในการนี้จึงได้หยิบยกเอาเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับสยามประเทศมาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้





















(จำนวนผู้เข้าชม 1221 ครั้ง)


Messenger