อั่งถ่อก้วย
อั่งถ่อก้วย (红桃粿) เมืองน่าน หายไปไหน?
,,,,,,,,,,เนื่องจากวันนี้เป็นวันอาทิตย์แอดมินก็นึกถึงอะไรที่ออกโทนสีแดงๆ ขึ้นมา จึงนึกหาข้อมูลมาคุยกันครับ
,,,,,,,,,,หากพูดถึงขนมกุยช่ายคงจะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี แต่หากพูดถึงอั่งถ่อก้วยผู้คนไม่น้อยคงจะนึกกันไม่ออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่อันที่จริงแล้วมีความคล้ายกันในกรรมวิธีการทำมาก เพียงแต่หน้าตาต่างกันเท่านั้นเอง โดยที่ขนมชนิดนี้เป็นการทำสีสันและรูปร่างเลียนแบบลูกท้อซึ่งเชื่อว่าเป็นผลไม้จากสวรรค์ (ตำนานเล่าว่า ซีหวังหมู่ [เชื่อถือกันว่าเป็นผู้ประทานอายุ โภคะ และสุข] บอกพระเจ้าฮั่นบูตี้ กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ว่าให้ชาวเมืองจงทำเป็นขนมเลียนแบบรูปผลท้อ สำหรับเป็นขนมไหว้เทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ผู้ไหว้จะอายุยืน มีความสุข สุขภาพแข็งแรง)
,,,,,,,,,,คำว่าอั่งนั้นหมายถึงสีแดง (รวมถึงเฉดสีชมพู ส้ม ฯลฯ) ถ่อหมายถึงผลท้อ และก้วยหมายถึงขนม เมื่อรวมกันแล้วคงหมายถึงขนมที่มีสีแดงคล้ายผลท้อสุกนั่นเอง โดยไส้ที่นิยม ได้แก่ ไส้ข้าวเหนียวผสมถั่วลิสงและกุ้งแห้ง ไส้กุยช่าย และไส้หน่อไม้
,,,,,,,,,,ชาวจีนใช้อั่งถ่อก้วยในพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ เก๊างวยะ-เมื่อเด็กอายุครบ ๑ เดือน ครอบครัวจะทำอั่งถ่อก้วยไปไหว้เทพเจ้าตามคติความเชื่อของตน (บางแห่งว่าเป็นการไหว้แม่ซื้อ)
,,,,,,,,,,เมื่ออายุครบ ๑๕ ปี จะเป็นพิธี ชุกฮวยฮึ้ง ออกจากสวนดอกไม้ เพื่อต้องการปลุกจิตสำนึกให้เด็กที่เริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่นรู้รับผิดชอบตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ในงานแซยิดอายุ ๖๐ ปี ต้องมีอั่งถ่อก้วย และเมื่อเสียชีวิตก็ใช้อั่งถ่อก้วยเป็นหนึ่งในขนมเส้นไหว้ในงานศพเช่นกัน (แต่ในช่วงไว้ทุกข์ ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน จะทำแป้งเป็นสีขาว)
,,,,,,,,,,นอกจากนี้เทศกาลประจำปี ได้แก่ ตรุษจีน/สารทจีน เทศกาลขนมจ้าง (บ๊ะจ่าง) เทศกาลขนมบัวลอย และที่เห็นบ่อยๆ คือการไหว้เจ้าที่ที่บ้านในวันพระจีน (วัน ๑ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำของจีน)
,,,,,,,,,,นอกจากตัวอั่งถ่อก้วยจะเป็นการทำเลียนแบบผลท้อซึ่งมีความหมายถึงอายุวัฒนะ สีแดงอันเป็นสีมงคล เรายังเห็นว่าบนผิวของขนมชนิดนี้หลายครั้งยังปรากฏอักษรจีนอันเป็นมงคลตัวใดตัวหนึ่ง ได้แก่ ฮก หมายถึง บุญวาสนา ซิ่ว หมายถึง อายุยืน ซังฮี้ หมายถึง มงคลคู่, สุขทวีคูณ และยังมีอักษรจีนอื่นๆ อีกหลายตัว และบางครั้งยังมีลายที่ขอบเป็นลายประแจจีน ซึ่งมีความหมายถึง ความสุข โชคลาภ และความก้าวหน้าอีกด้วย
,,,,,,,,,,ขนมชนิดนี้คงเข้ามาสู่ความรับรู้ของชาวเมืองน่านพร้อมๆ กับชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ผู้เขียนเคยลองสอบถามได้ความว่าในอดีตขนมชนิดนี้หาซื้อได้ไม่ยากนักในตลาดเย็นสมัยก่อนไม่เกิน ๑๐ ปีมานี้ แต่ปัจจุบันหาซื้อไม่ได้แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาหารและวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวจีนในเมืองน่านค่อยๆ จางหายไปกับผู้คนรุ่นก่อนอย่างช้าๆ (น่าจะเกิดขึ้นในอีกหลายๆ เมือง) รู้ตัวอีกทีสิ่งเหล่านั้นก็เหลือเพียงความทรงจำไปเสียแล้ว
________________________________________
อ้างอิง
- เสี่ยวจิว, รู้จัก “อั่งถ่อก้วย” ขนมทีเด็ดจากจีน หน้าตาแทบเหมือน “กุยช่าย” แต่ไม่ใช่กุยช่าย!, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มิถุนายน ๒๕๕๒.
- เสี่ยวจิว, อั่งถ่อก้วย ขนมฟ้าประทานที่ใช้กันตั้งแต่เกิด-ตาย, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน ๒๕๕๒.
- พรพรรณ จันทโรนานนท์, ฮก ลก ซิ่ว โชคลาภอายุยืน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549).
(จำนวนผู้เข้าชม 9514 ครั้ง)