การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๗
การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๗
ลูกชั่ง หรือ ลูกเป้ง
จากการที่ล้านนามีการติดต่อค้นขายกับพ่อค้าจากเมืองต่างๆ ส่งผลให้มีการนำเงินตราของดินแดนใกล้เคียงที่มีการติดต่อค้าขายกันมาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเงินตราของไท พม่า จีน และลาว รวมไปถึงการชั่งน้ำหนักซึ่งพบว่ามีการใช้ตราชั่งทั้งแบบตาเต็งหรือตาชั่งจีนและตาชูหรือตาชั่งแบบสุเมเรียน ในการใช้ตาชูนี้ต้องมีลูกชั่งซึ่งเป็นโลหะที่กำหนดน้ำหนักไว้เป็นมาตรฐานเพื่อนำมาชั่งน้ำหนักสิ่งของต่างๆ ที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมถึงใช้ชั่งโลหะที่นำมาเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้า โดยลูกชั่งนี้นิยมทำเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี เช่น หงส์ สิงห์ มอม เป็นต้น ชาวมอญในพม่านิยมใช้ลูกชั่งรูปหงส์เนื่องจากเป็นสัตว์ในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งเมืองหงสาวดี
สำหรับลูกชั่งที่ใช้ในล้านนา เรียกอีกอย่างว่า ลูกเป้ง นอกจากทำเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีแล้วยังพบว่ามีการหล่อลูกชั่งเป็นรูปสัตว์ประจำปีเกิด เรียกกันว่า ลูกเป้ง ๑๒ นักษัตร พรหมชาติล้านนากล่าวถึงโฉลกในการพกลูกเป้งและการเลือกใช้ถุงสำหรับบรรจุทรัพย์สำหรับผู้ที่เกิดในปีนักษัตรต่างๆ ไว้ดังนี้
ปีชวด พกลูกเป้งรูปหนู
ปีฉลู พกลูกเป้งรูปวัว ถุงบรรจุทรัพย์ควรเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกสีเหลืองด้านในสีแดง
ปีขาล ถุงบรรจุทรัพย์ควรเป็นถุง ๓ ชั้น ชั้นนอกสีแดง กลางสีขาวและชั้นในสีเขียว
ปีเถาะ พกลูกเป้งรูปกระต่าย
ปีมะโรง พกลูกเป้งรูปนาค
ปีมะเส็ง พกลูกเป้งรูปงู
ปีมะเมีย พกลูกเป้งรูปม้า ถุงบรรจุทรัพย์ควรเป็น ๒ ชั้น ด้านนอกสีแดง ด้านในสีเหลือง
ปีมะแม พกลูกเป้งรูปแพะ
ปีวอก พกลูกเป้งรูปลิง ถุงบรรจุทรัพย์ควรเป็น ๒ ชั้น ด้านนอกสีดำ ด้านในสีเหลือง
ปีระกา พกลูกเป้งรูปไก่ ถุงบรรจุทรัพย์ควรเป็นถุง ๓ ชั้น ชั้นนอกสีเขียว ชั้นกลางสีขาว ชั้นในสีเทา
ปีจอ พกลูกเป้งรูปสุนัข ถุงบรรจุทรัพย์ควรเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกสีเหลือง ชั้นในสีขาว
ปีกุน พกลูกเป้งรูปช้าง ถุงบรรจุทรัพย์ควรเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกสีเหลืองชั้นในสีขาว
นอกจากนี้ยังมีโฉลกในการเลือกใช้ถุงบรรจุทรัพย์และการพกลูกเป้งสำหรับผู้ที่เกิดในเดือนต่างๆ ดังนี้
เดือน ๗ พกลูกเป้งรูปช้าง ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีแดง ด้านในสีขาว
เดือน ๘ พกลูกเป้งรูปแพะ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีดำ ด้านในสีม่วง สายสีขาว
เดือน ๙ พกลูกเป้งรูปหงส์ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีดำ ด้านในสีเทา
เดือน ๑๐ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีดำหรือสีเขียว ด้านในสีเหลือง สายสีแดง
เดือน ๑๑ พกลูกเป้งดังรูปลูกหว้า ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีแดง ด้านในสีเหลือง สายสีขาว
เดือน ๑๒ พกลูกเป้งรูปเรือ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีแดง ด้านในสีเขียว สายสีเหลือง
เดือนเกี๋ยงหรือเดือน ๑ พกลูกเป้งรูปหอยสังข์ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีแดง ด้านในสีขาว สายสีดำ
เดือนยี่ พกลูกเป้งรูปราชสีห์ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีขาว ด้านในสีดำ สายสีเหลือง
เดือน ๓ พกลูกเป้งรูปวัว ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีม่วง ด้านในสีเหลือง สายสีแดง
เดือน ๔ พกลูกเป้งรูปหงส์ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีแดง ด้านในสีเขียว สายสีขาว
เดือน ๕ พกลูกเป้งรูปเต่า ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีม่วง ด้านในสีเขียว สายสีแดง
เดือน ๖ พกลูกเป้งรูปช้างหรือรูปราชสีห์ ถุงใส่ทรัพย์ ๒ ชั้น ด้านนอกสีเขียว ด้านในสีขาว สายสีดำ
ซึ่งการกำหนดโฉลกในการพกลูกเป้งรูปต่างๆ นี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของลูกเป้งที่มีการผลิตขึ้นเพื่อใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันบางรูปแบบพบไม่มากนัก โดยลูกเป้งส่วนใหญ่ที่พบได้แก่รูปหงส์ รูปสิงห์ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ : นวรัตน์ เลขะกุล สนพ.สารคดี, ๒๕๔๗
พรหมชาติล้านนา : สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๐
(จำนวนผู้เข้าชม 915 ครั้ง)