การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๒
....
การค้าขายและเงินตราที่ใช้ในล้านนา ตอนที่ ๒
ในการนำโลหะมาเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้านั้น มีการกำหนดมูลค่าของโลหะจากความสวยงาม ความยากง่ายที่พบ เหตุที่นิยมใช้เงินเป็นสื่อกลางเนื่องจากเป็นโลหะที่มีมูลค่าไม่สูงเท่าทองคำ แต่ไม่ต่ำเท่าทองแดงและดีบุก
เพื่อให้ได้น้ำหนักที่เป็นมาตรฐานกว่าการตัดแบ่งก้อนโลหะ จึงเริ่มมีการนำเงินและโลหะอื่นๆ มาหล่อเป็นรูปแบบต่างๆ ให้ได้น้ำหนักตามที่ต้องการแล้วใช้ตราของผู้มีอำนาจประทับรับรองความถูกต้องของขนาดและน้ำหนัก เช่น การประทับตราลงบนเงินเจียง เงินพดด้วง
เงินตราที่ใช้กันแพร่หลายในล้านนามีหลายประเภท เช่น หอยเบี้ย เงินท๊อก เงินเจียง เงินดอกไม้ หลังจากที่พม่าเข้าปกครองล้านนาได้มีการนำเงินตราของพม่ามาใช้ ต่อมาเมื่ออังกฤษเข้าปกครองพม่าจึงมีการนำเหรียญรูปีมาใช้ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเริ่มมีการนำเงินตราของสยามมาใช้ในล้านนา
หอยเบี้ย
เป็นหอยทะเลส่วนใหญ่มาจากหมู่เกาะมัลดีฟ และฟิลิปปินส์ นิยมนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าเนื่องจากเป็นของหายากและมีขนาดเล็ก เป็นเงินตราที่มีมูลค่าต่ำสุดในระบบเงินตรา
เงินท๊อก
มีลักษณะเป็นแผ่นกลม คล้ายเปลือกหอย ด้านหน้านูนส่วนด้านหลังบุ๋มลึกลงไป ขนาดตั้งแต่ ๒.๕-๕.๕ เซนติเมตร ทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น สำริด ทองแดง เป็นเงินที่มีมูลค่าต่ำสุดในหมู่เงินตรา แต่มีมูลค่าสูงกว่าหอยเบี้ย พบว่ามีการเจาะรูที่ริมขอบสำหรับร้อยเชือกเพื่อความสะดวกในการพกพา
เงินท๊อกสามารถแยกย่อยและมีมูลค่าต่างกันไปตามขนาด น้ำหนัก และโลหะที่ใช้ผลิต หนังสือเงินตราล้านนาและผ้าไท แบ่งเงินท๊อกเป็น ๖ ประเภทตามลักษณะ ได้แก่ เงินใบไม้หรือเงินเส้น เงินท๊อกน่าน เงินท๊อกเชียงใหม่หรือเงินหอย เงินวงตีนม้า เงินหอยโข่ง และเงินปากหมู
โดยเงินท๊อกที่ทำจากทองแดงเป็นเงินท๊อกที่มูลค่าต่ำสุด ส่วนเงินใบไม้เป็นเงินท๊อกที่ทำจากสำริดชุบเงินด้านบนมีเส้นนูนขึ้นมา ทั้งแบบเส้นเดียวและเป็นกิ่งแยกออกไป มีมูลค่าต่ำกว่าเงินท๊อกที่ทำจากสำริดล้วน
เอกสารอ้างอิง
เงินตราล้านนา : นวรัตน์ เลขะกุล/ธนาคารแห่งประเทศไทย นพบุรีการพิมพ์ เชียงใหม่, ๒๕๕๕
เงินตราล้านนาและผ้าไท : ธนาคารแห่งประเทศไทย อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๓
เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงค์ : นวรัตน์ เลขะกุล สนพ.สารคดี, ๒๕๔๗
(จำนวนผู้เข้าชม 2741 ครั้ง)