...

ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี เสาดินนาน้อย
เรื่อง “ร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี เสาดินนาน้อย”
 เสาดินนาน้อย  อยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย  จังหวัดน่าน  นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ยังพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์  ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ ซึ่งมีลักษณะเป็นหินกรวดแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือหินในกลุ่มเครื่องมือสับ-ตัด (Chopper - chopping Tool) โดยพบได้ทั่วไปตามพื้นผิวดินและผนังชั้นดิน ในบริเวณที่ถูกน้ำเซาะจากการศึกษาเปรียบเทียบอายุสมัยของเครื่องมือหิน สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่า ๑๐,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
"เสาดิน" เป็นศัพท์ที่ชาวบ้านใช้เรียกหย่อมตะกอนที่มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน เป็นแท่ง เป็นกรวย เป็นหลืบ มียอดแหลม โผล่พ้นพื้นดินบนลานโล่ง เสาดินนาน้อยเกิดขึ้นจากการผุพังและการกัดกร่อนโดยน้ำฝนเป็นตัวการ ทำให้ชั้นตะกอนซึ่งได้จากการสะสมตัวในแอ่งลุ่มน้ำของอำเภอนาน้อยในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายที่ยังไม่จับตัวกันแน่นแข็งเป็นหิน  ถูกชะล้างพัดพาออกไปจนมีสภาพแวดล้อมเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม มีริ้วและร่องที่เกิดจากการกัดกร่อนโดยทางน้ำ (Gully erosion) มากมาย  แหล่งธรณีวิทยาคล้ายเสาดินนาน้อยแห่งอื่นในประเทศไทย เช่น แพะเมืองผี ตำบลน้ำชำ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่, โป่งยุบ ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และ ละลุ ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย ปรากฏหลักฐานร่องการอยู่อาศัยแรกเริ่มในพื้นที่จังหวัดน่านของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period)   หลักฐานที่พบ คือ เครื่องมือหินกะเทาะซึ่งทำจากหินกรวดแม่น้ำ เป็นเครื่องมือหินประเภทสับ-ตัด (Chopper-chopping Tool) ส่วนใหญ่เป็นแบบกะเทาะหน้าเดียว สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุมากกว่า ๑๐,๐๐๐ - ๒๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ในปี พ.ศ.  ๒๕๕๕ ได้มีการศึกษารูปแบบเครื่องมือหินกะเทาะ ที่พบจากการสำรวจ ในพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย จำนวน ๒๐๓ ชิ้น จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเป็นหินทรายและหินควอตไซต์ และได้จัดจำแนกรูปแบบเครื่องมือหินออกเป็นสองลักษณะ ได้แก่ เครื่องมือแกนหิน และเครื่องมือสะเก็ดหิน  ดังนี้
เครื่องมือแกนหิน (Core Tools) ได้แก่
๑. Chopper Tools เครื่องมือหินที่กะเทาะหน้าเดียว มีลักษณะเป็นเส้นโค้งหรือเส้นตรงเฉพาะส่วนบนผิวหน้าเท่านั้น 
๒. Chopping Tools เครื่องมือหินที่มีร่องรอยการกะเทาะทั้งสองหน้า ขอบที่เป็นคมของเครื่องมือโค้งลงคล้ายลูกคลื่น อันเกิดจากการกะเทาะสลับไปมาทั้งสองข้าง 
๓. Hand-Adzes เครื่องมือหินที่ถูกกะเทาะขอบคมด้านซ้ายหรือขวาด้านใดด้านหนึ่ง 
๔. Photo-Hand axes เครื่องมือหินที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลม 
๕. เครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวทั้งหน้า 
     ๕.๑ แบบมีปลายค่อนข้างแหลม 
     ๕.๒ แบบมีลักษณะค่อนข้างกลม 
๖.  เครื่องมือหินที่มีร่องรอยการกะเทาะทั้งชิ้น 
เครื่องมือสะเก็ดหิน (Flakes tools) ได้แก่
๑. เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะเพียงหน้าเดียว ให้เกิดรอยคมบริเวณขอบผิวหน้าของสะเก็ดหินด้านใดด้านหนึ่ง 
๒. เครื่องมือสะเก็ดหินที่ถูกกะเทาะขอบคม 
     ๒.๑ เครื่องมือสะเก็ดหินที่ถูกกะเทาะขอบคมรอบๆ 
     ๒.๒ เครื่องมือสะเก็ดหินที่ถูกกะเทาะขอบคมด้านซ้ายหรือขวาด้านใดด้านหนึ่ง
๓.  เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลม
     ๓.๑ เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลมเพียงด้านเดียว 
     ๓.๒ เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดใหญ่ที่กะเทาะให้มีลักษณะปลายแหลมทั้งด้านบนและด้านล่าง 
๔. เครื่องมือสะเก็ดหินขนาดเล็กที่มีร่องรอยการกะเทาะทั่วทั้งชิ้น  
๕. รูปแบบอื่นๆ ไม่สามารถจัดจำแนกให้อยู่ในรูปแบบข้างต้นได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือหินที่มีลักษณะคล้ายคมขวาน 
นอกจากแหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีประวัติศาสตร์สมัยหินเก่าแล้ว ยังมีแหล่งโบราณคดีถ้ำปู่แล่ม หรือถ้ำอัมรินทร์ ตำบลส้าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นถ้ำบนภูเขาหินปูน จากการสำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำ ก้อนหินเจาะรู เครื่องมือหินขัด และเศษภาชนะดินเผา  โดยหินกรวดแม่น้ำที่มีรอยกะเทาะและสะเก็ดหินหลายชิ้นที่พบคงจะถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องมือ สันนิษฐานว่า เครื่องมือหินกรวดแม่น้ำที่พบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำปู่แล่ม หรือถ้ำอัมรินทร์ น่าจะมีอายุราว ๓๕,๐๐๐ - ๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับแหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย
ปัจจุบัน โบราณวัตถุที่ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ประกอบด้วย เครื่องมือหินกะเทาะ จำนวน ๑๐ ชิ้น ซึ่งพบจากการสำรวจบริเวณเสาดินนาน้อย เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๕
นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากพื้นที่บริเวณเสาดินนาน้อย ณ อาคารที่ทำการของเสาดินนาน้อย และนำเสนอเรื่องราวทางด้านธรณีวิทยาของเสาดินนาน้อยอีกด้วยค่ะ
เอกสารอ้างอิง :
กรมทรัพยากรธรณี,  เสาดิน ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน (ออนไลน์) , เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔, แหล่งที่มา : http://www.dmr.go.th/main.php?filename=n08
พัชราภรณ์ มูลชมพู. “รูปแบบเครื่องมือหินกะเทาะ: แหล่งโบราณคดีเสาดินนาน้อย อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน”. สารนิพนธ์ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๕.
ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม, แหล่งโบราณคดี เสาดินนาน้อย (ออนไลน์), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔, แหล่งที่มา :  http://gis.finearts.go.th/fineart/ 
สิริพัฒน์ บุญใหญ่. การสำรวจแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน. เชียงใหม่ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดกู้ดพริ้น พริ้นติ้ง เชียงใหม่, ๒๕๕๑.
สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่. สังเขปประวัติศาสตร์และโบราณคดีจังหวัดน่าน ฉบับคู่มือ อส.มศ. , ไม่ระบุปีที่พิมพ์.




























(จำนวนผู้เข้าชม 39282 ครั้ง)