เจี๋ย เซียง เหฮียง ประเพณีปีใหม่เมี่ยน
"เจี๋ย เซียง เหฮียง ประเพณีปีใหม่เมี่ยน" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีปีใหม่ของกลุ่มชนเมี่ยน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ทางแถบจังหวัดตอนบนของประเทศไทย
เมี่ยน อิ้วเมี่ยน หรือเย้า
สันนิษฐานว่าชื่อกลุ่มชาติพันธุ์มาจากชื่อเดิมว่า อี-ยู่เมี้ยน ในภาษาเวียดนาม เรียกชื่อกลุ่มชนนี้ว่า ม้าน และเป็นคำในภาษาจีนที่หมายถึงอนารยชน
ตระกูลภาษา คือ สาขาของตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน (แม้ว-เย้า) หรือ เมี่ยว-เย้า (Miao-Yao) ในภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ที่มีอิทธิพลจีน ลาว ไทยปะปนอยู่ ใช้อักษรจีนเป็นอักขระในการเขียน จดบันทึกต่างๆ
กลุ่มชนเมี่ยนมีถิ่นกำเนิดเดิม อยู่บริเวณตอนใต้แถบที่ราบรอบทะเลสาบตง ถึงในลุ่มแม่น้ำแยงซี ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ จึงเริ่มมีการอพยพมาทางใต้และตั้งถิ่นฐานในเวียดนาม ตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางตะวันออกของสหภาพพม่าแถบเชียงตุง และบริเวณทางเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก และจังหวัดเพชรบูรณ์
สำหรับในจังหวัดน่าน มีการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนเมี่ยน อยู่ในพื้นที่อำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอท่าวังผา อำเภอสองแคว อำเภอปัว อำเภอเวียงสา และอำเภอบ่อเกลือ
เทศกาลปีใหม่ของชาวเมี่ยนจะจัดเป็นประจำทุก ๆ ปี หลังจากปีเก่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว เช่นเดียวกับชนเผ่ากลุ่มอื่น ๆ ทั่วไป เนื่องจากกลุ่มชนเมี่ยนใช้วิธีนับวัน เดือน ปี แบบจีน วันฉลองปีใหม่จึงเริ่มพร้อมกันกับชาวจีน คือ วันตรุษจีน ภาษาเมี่ยน เรียกว่า “เจี๋ยฮยั๋ง” ก่อนที่จะถึงพิธีเจี๋ยฮยั๋งนี้ ชาวบ้านแต่ละครัวเรือน จะต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นทั้งของใช้ส่วนตัว และของใช้ในครัวเรือนให้เรียบร้อยก่อน
เพราะเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่แล้ว จะมีกฎข้อห้ามหลายอย่างที่ชาวเมี่ยนยึดถือและปฏิบัติกันต่อ ๆ กันมา
ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ญาติพี่น้องของชาวเมี่ยนแต่ละครอบครัว ซึ่งแต่งงานแยกครอบครัวออกไปอยู่ที่อื่น จะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่และญาติพี่น้องของตนเอง ซึ่งเป็นการพบปะสังสรรค์ และทำพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษร่วมกัน (เสียงเมี้ยน) การประกอบพิธีจะมีทั้งหมด ๓ วัน ได้แก่
วันแรก ถือว่าเป็นวันสิ้นปีเก่า ซึ่งวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่จะทำการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ (ประเพณีของบางหมู่บ้าน อาจทำมาก่อนแล้วภายใน ๑ สัปดาห์) การทำพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษร่วมกัน (เสียงเมี้ยน) เป็นการแสดงความขอบคุณแก่วิญญาณบรรพบุรุษที่ได้คุ้มครองดูแลในรอบปีที่ผ่านมาด้วยดี หรือบางครอบครัวที่มีการบนบานเอาไว้ก็จะทำพิธีแก้บน และเซ่นไหว้กันในวันนี้ นอกจากนั้นในวันสิ้นปีนี้ชาวเมี่ยนจะเตรียมข้าวของเครื่องใช้และจะซักผ้าทำความสะอาดบ้าน ให้เรียบร้อยก่อนวันขึ้นปีใหม่อีกด้วย
วันที่ ๒ ตรงกับวันตรุษจีนถือว่าเป็นวันปีใหม่ หรือวันถือ แต่ละครอบครัวจะตื่นแต่เช้ามืด แล้วเดินไปหลังบ้านเพื่อเก็บก้อนหินเข้าบ้าน เป็นเสมือนการเรียกขวัญเงินขวัญทองเข้าบ้าน เชื่อว่าเงินจะไหลมาเทมาสู่ครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีความสุข และในวันนี้ผู้ใหญ่จะต้มไข่เพื่อย้อมไข่แดง ส่วนเด็ก ๆ ตื่นขึ้นมาก็จุดประทัด หรือยิงปืนเพื่อเป็นสิริมงคล และเฉลิมฉลองปีใหม่ ในวันปีใหม่ชาวเมี่ยนจะทำแต่ในสิ่งที่เป็นมงคลเท่านั้น เช่น สอนให้เด็กเรียนหนังสือ ฝึกเด็กให้รู้จักทำงาน นำสิ่งที่ดีเข้าบ้านและจะไม่กระทำบางสิ่งบางอย่างที่ถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี เช่น จ่ายเงิน ทำงานหนัก เป็นต้น
วันที่ ๓ ตามประเพณีแล้ว ชาวเมี่ยนจะไปทำความเคารพบุคคล ที่เคารพนับถือ แต่ในปัจจุบันนี้กระทำกันเฉพาะในบางหมู่บ้านเท่านั้น
ชาวเมี่ยน มีความเชื่อว่า “ไข่ต้มย้อมสีแดง” เป็นการอวยพรปีใหม่ ให้มีโชคลาภ สุขภาพแข็งแรง ชีวิตเจริญรุ่งเรือง และการมอบไข่ต้มย้อมสีแดง
ให้กับแขกผู้มาเยือน ถือเป็นการอวยพร ในงานเฉลิมฉลองตรุษจีน และปีใหม่ของชาวเมี่ยน
สิ่งที่ชาวเมี่ยนต้องเตรียมก่อนวันปีใหม่ ได้แก่
๑. อาหารสัตว์ เช่น หยวกกล้วย หญ้าสำหรับเลี้ยงหมูเลี้ยงวัว และอื่น ๆ เพราะชาวเมี่ยนเชื่อว่า ถ้าไปหาอาหารสัตว์ในวันขึ้นปีใหม่นี้ เมื่อถึงเวลาทำไร่ จะมีวัชพืชขึ้นมาก ทำให้ผลผลิตไม่ดีหรือไม่พอกิน
๒. ฟืน สำหรับหุงต้ม ชาวเมี่ยนเชื่อว่าถ้าไปตัดฟืนในวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้ในตัวบ้านมีแมลงบุ้งมาก
๓. ขนม (ฌั้ว) ใช้สำหรับไหว้พรรพบุรุษ และใช้กินในวันขึ้นปีใหม่ ขนมที่ทำมี ข้าวปุก(ฌั้ว จซง) ข้าวต้มมัดดำ (ฌั้วเจี๊ยะ, ฌั้วจฉิว)
๔. เนื้อสัตว์ ส่วนมากจะฆ่ากันวันที่ ๓๐ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีเก่า มีทั้งหมู และไก่ เพราะเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ ชาวเมี่ยนจะไม่ฆ่าสัตว์ มีความเชื่อว่า ถ้าฆ่าสัตว์ในวันขึ้นปีใหม่นี้แล้ว จะทำให้การเลี้ยงสัตว์ไม่ดี และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ แก่สัตว์ได้
๕. เตรียมไข่ เพื่อจะมาย้อมเป็นสีแดง สำหรับย้อมให้เด็ก และญาติพี่น้องที่มาเที่ยวในวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคล และเป็นสิ่งที่ดีงาม
๖. ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้าเครื่องประดับ และอื่น ๆ จะต้องเตรียมให้พร้อมก่อนวันขึ้นปีใหม่ เพราะในวันขึ้นปีใหม่ ชาวเมี่ยนห้ามใช้เงิน ถ้าใช้เงินในวันนี้เชื่อว่า เวลามีเงินแล้ว จะไม่สามารถเก็บได้ ต้องจับจ่ายออกไปจะยากจน และไม่สามารถหาเงินทองได้
๗. ประทัด ใช้จุดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว เป็นการแสดงความยินดีที่ปีเก่าได้ผ่านไปด้วยดี และต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ธรรมเนียมที่ชาวเมี่ยนยึดถือปฏิบัติในวันปีใหม่
๑. ไม่ใช้เงิน เพราะเชื่อว่า ถ้าใช้เงินจะไม่สามารถเก็บเงินอยู่ได้
๒. ไม่ฆ่าสัตว์ เชื่อว่า จะเลี้ยงสัตว์ไม่เจริญ
๓. ไม่ทำไร่ เชื่อว่า จะปลูกพืชไม่งอกงาม
๔. ไม่เก็บฟืนและหาอาหารสัตว์ วันพักผ่อนก็ควรพักผ่อน
๕. ไม่กินอาหารประเภทผัก
อย่างไรก็ตามเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและประเพณีของชาวเมี่ยน นอกจากประเพณีปีใหม่ที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้น ยังมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่ารู้อีกมากมาย ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยนเท่านั้น
เพราะในจังหวัดน่านเอง ยังมี กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในพื้นที่อำเภอต่างๆ เช่น ม้ง ลัวะ มลาบรี ยวน เป็นต้น ที่ล้วนแล้วแต่มีวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ก็คงจะได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน ในโอกาสต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. เมี่ยน อิ้วเมี่ยน (ออนไลน์), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔, แหล่งที่มา: https://www.sac.or.th/datab.../ethnic-groups/ethnicGroups/85
- คณะทำงานเอกลักษณ์น่าน. เอกลักษณ์น่าน, เชียงใหม่: MaxxPrint (ดาวคอมพิวเตอร์กราฟฟิก), ๒๔๔๙.
- ชลลดา สังวร. เมี่ยน ชีวิต ศรัทธา และผ้าปัก เอกสารประกอบนิทรรศการเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๔๘ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน, ๒๕๔๘.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน. กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. ประเพณีปีใหม่อิ้วเมี่ยน (ออนไลน์), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔, แหล่งที่มา: http://m-culture.in.th/album
- อภิชาต ภัทรธรรม. เย้า, (เอกสาร PDF วารสารการจัดการป่าไม้ ๒๕๕๒ หน้า ๑๓๔ - ๑๔๖: ออนไลน์), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔, แหล่งที่มา http://frc.forest.ku.ac.th/.../Forest_management...
(จำนวนผู้เข้าชม 5095 ครั้ง)