การค้นพบไดโนเสาร์ในประเทศไทย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา คณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย – ฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับซาดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูก สันหลังในประเทศไทย ซากดึกดำบรรพ์ คือ ไดโนเสาร์ที่พบมีอายุเก่าแก่ที่สุดอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (209 ล้านปีก่อน) และอายุน้อยที่สุดอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนกลาง (100 ล้านปีก่อน) ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทยมีทั้งที่เป็นชนิดที่พบใหม่ของโลก และชนิดที่พบอยู่ทั่วไป โดยแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เป็นต้น จึงมีการนำคำว่า “อีสาน” มาตั้งเป็นชื่อไดโนเสาร์และตั้งชื่อตามชื่อของบุคคลหรือสถานที่ที่ขุดค้นพบ ด้วย
สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
ไดโนเสาร์ตระกูลใหม่ของไทยถูกค้นพบที่บริเวณหินลาดยาว อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 ไดโนเสาร์เทอโรพอด (ไดโนเสาร์ที่เดิน 2 เท้า) ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6.5 เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน มีขาหลังที่ใหญ่และแข็งแรงมาก พบกระดูกสันหลัง สะโพกและหางที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ฝังในชั้นหินทราย จากการศึกษาพบว่าอยู่ในวงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุด ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มของ ไทรันโนซอร์เริ่มวิวัฒนาการครั้งแรกในเอเชียแล้วค่อยแพร่กระจาย ไปทางเอเชียเหนือ และสิ้นสุดที่อเมริกาเหนือก่อนที่สูญพันธุ์ไป
ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ (Phuwiangosaurus sirindhornae)
ไดโนเสาร์ซอโรพอด (ไดโนเสาร์ที่เดิน 4 เท้า คอและหางยาว กินพืชเป็นอาหาร) ชนิดแรกของไทย ถูกค้นพบที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น มักอยู่รวมกันเป็นฝูง พบกระดูกของพวกวัยเยาว์รวมอยู่ด้วย ซึ่งมีขนาดยาว 2 เมตร และสูงเพียงครึ่งเมตรเท่านั้น ไดโนเสาร์ชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สยามโมซอรัส สุธีธรณี (Siamosaurus suteethorni)
ไดโนเสาร์ชนิดแรกของไทย ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ นายวราวุธ สุธีธร ผู้มีส่วนร่วมในการสำรวจ พบที่บริเวณประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ไดโนเสาร์เทอโรพอด (ไดโนเสาร์ที่เดิน 2 เท้า) ขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 7 เมตร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นประมาณ 130 ล้านปีก่อน สันนิษฐานว่าไดโนเสาร์เทอโรพอดทีทมีฟันรูปทรงกรวยมีแนวร่องและสันเรียงสลับ ตลอด ฟันคล้ายจระเข้ และมีลักษณะปากคล้ายสัตว์เลื้อยคลานพวกกินปลา มีแหล่งหากินอยู่ริมน้ำและกินปลาเป็นอาหาร
คอมพ์ซอกนาธัส [Compsognathus]
ไดโนเสาร์ขนาดเล็กตัวเท่าไก่ พบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น มีลักษณะคล้ายนก ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กพวกซีลูโรเซอร์ ขนาดยาวประมาณ 70 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3.5 กิโลกรัม วิ่งด้วยขาหลังทั้งสองข้าง
ซิททาโกซอรัส สัตยารักษ์คิ (Psittacesaurus sattayaraki)
ไดโนเสาร์พวกสะโพกแบบนก เป็นพวกเซอราทอปเชียน หรือไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ค้นพบโดย นายนเรศ สัตยารักษ์ ขุดพบที่จังหวัดชัยภูมิ มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนกลาง ประมาณ 100 ล้านปีก่อน กินพืชขนาดเล็กเป็นอาหาร ยาวประมาณ 1 เมตร ใน อดีตพบเฉพาะในแถบเอเชียกลาง บริเวณซานตุง ประเทศจีน ประเทศมองโกเลีย และไซบีเรียเท่านั้น ในประเทศไทยพบที่จังหวัดชัยภูมิในชั้นหิน การค้นพบซากไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นการยืนยันว่า เมื่อต้นยุคครีเทเชียส แผ่นดินอินโดจีน เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ทวีปเอเชียแล้ว
กินรีมิมัส (Kinnareemimus)
ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศตัวแรกของไทย พบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น วิ่งเร็ว ปราดเปรียว เป็นเทอโรพอด (ไดโนเสาร์ที่เดิน 2 เท้า) ที่ไม่มีฟัน กินทั้งพืช และสัตว์เป็นอาหาร ขนาดยาวประมาณ 1 - 2 เมตร
อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี (Isanosaurus attavipatchi)
ไดโนเสาร์กินพืชที่มีลักษณะเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ เดิน 4 ขา คอยาว หางยาว) พบที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เมื่อปี 2541 เป็นไดโนเสาร์กินพืชคอยาว อายุราว 210 ล้านปี มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย ประมาณ 209 ล้านปีมาแล้ว ความยาว 13 – 15 เมตร ชื่อชนิด อรรถวิภัชน์ชิ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายปรีชา อรรถวิภัชน์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
สเตโกซอรัส (Stegosaurus)
เป็น สายพันธุ์สเตโกซอริเตที่มีอายยุย้อนยุคไปไกลที่สุดในอดีต คือ 140 – 152 ล้านปี หรือยุคจูราสสิคตอนปลาย พบกระดูกสันหลังที่ชั้นหินทรายสีเทา ขุดพบที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าเป็นของสเตโกซอรัส เนื่องจากไดโนเสาร์ชนิดนี้มีกระดูกสันหลังใช้เป็นเกราะป้องกันตัว หรือใช้สำหรับขู่คู่ต่อสู เป็นลักษณะที่ต่างจากไดโนเสาร์ชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด ไดโนเสาร์ชนิดนี้ชอบกินพืช เคลื่อนไหวเชื่องช้า
ที่มา : Science in action (ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550) หน้า 10 – 11.
(จำนวนผู้เข้าชม 48741 ครั้ง)