...

เรือพาลีรั้งทวีป และ เรือสุครีพครองเมือง

          ชื่อเรือ 2 ลำนี้คือ พาลีรั้งทวีปและสุครีพครองเมือง สะท้อนความรับรู้เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พุทธศักราช 2325 - 2351) เป็นวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องตามมหากาพย์รามายณะของอินเดีย

          ชื่อเรือ ๒ ลำนี้คือ พาลีรั้งทวีปและสุครีพครองเมือง สะท้อนความรับรู้เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พุทธศักราช 2325 - 2352) เป็นวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องตามมหากาพย์รามายณะของอินเดีย

          โขนเรือพาลีรั้งทวีป เป็นรูปวานร (ลิง) สวมมงกุฎ ร่างกายสีเขียว เครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก ชื่อเรือและลักษณะโขนเรือเช่นนี้ทำให้ทราบว่า เป็นรูปของพาลี พระราชาเมืองขีดขิน แห่งอาณาจักรวานร ในเรื่องรามเกียรติ์ (ในมหากาพย์รามายณะเรียกว่า วาลี ส่วนเมืองชื่อ กีษกินธะ) ชื่อเรือ พาลีรั้งทวีป มาจากเรื่องราวของพาลีผู้อาจหาญ ทุกๆ เช้าจะข้ามทวีปจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตกและจากเหนือไปใต้เพื่อกราบไหว้พระอาทิตย์ (พระสูรยะ)

          โขนเรือสุครีพครองเมือง เป็นรูปวานร (ลิง) สวมมงกุฎ ร่างกายสีแดง เครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก ชื่อเรือและลักษณะโขนเรือเช่นนี้ทำให้ทราบว่า เป็นรูปของสุครีพ (ในมหากาพย์รามายณะ เรียกว่า สุครีวะ) น้องชายของพาลี ขึ้นครองเมืองขีดขินหลังจากพาลีวายชนม์ อาณาจักรวานรที่สุครีพขึ้นครองเมืองได้นี้ก็เพราะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากหนุมานและพระรามซึ่งเป็นพระเอกในเรื่องรามเกียรติ์

          เรือ 2 ลำนี้สร้างครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พุทธศักราช 2325 - 2352) แต่ชื่อเรือพาลีรั้งทวีปใช้ว่า เรือพาลีล้างทวีป หัวเรือกว้างมีรูกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ เรือแต่ละลำมีความยาว 27.54 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 59 เซนติเมตร น้ำหนัก 6.97 ตัน มีกำลังพลประกอบด้วย ฝีพาย 34 คน นายเรือ 1 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 คน

ที่มา: http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges

(จำนวนผู้เข้าชม 294 ครั้ง)