พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
เรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง
ชื่อเรือทั้ง ๒ ลำนี้ปรากฏในสมุดภาพริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) ต้นฉบับเป็นหนังสือสมุดไทยของหอสมุดแห่งชาติ ต่อมาในหนังสือตำนานเรือรบไทย เรียบเรียงโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงเรือพระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒) โปรดให้สร้างขึ้นใหม่ ปรากฏชื่อเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือกระบวนปิดทอง อย่างไรก็ดี เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรือทั้ง ๒ ลำได้รับความเสียหายจากระเบิดทางอากาศยาน กรมศิลปากรและกองทัพเรือจึงได้ร่วมกันสร้างเรือทั้ง ๒ ลำขึ้นใหม่ โดยกล่าวถึงในประวัติเรือพระราชพิธี ซึ่งนาวาเอกอัญเชิญ นิทธยุ ได้รวบรวมไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่า “ในคราวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค พ.ศ.๒๕๑๐ ได้ใช้เรือเอกชัยเหิรหาวทอดพระที่นั่งกง ประดับด้วยพระอภิรุมเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทั้งนี้เนื่องจากเรืออเนกชาติภุชงค์ชำรุด ไม่ปลอดภัยในการนำลงน้ำและเข้าริ้วกระบวน โดยเรือเอกชัยเหิรหาวลำปัจจุบันนี้ ต่อใหม่ที่กรมอู่ทหารเรือเมื่อพ.ศ.๒๕๐๘ ลงน้ำ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๐”
เรือทั้ง ๒ ลำ ประดับตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำลงรักปิดทองรูปเหรา (เห-รา) ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีลักษณะผสมระหว่างมังกรกับพญานาค หัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงขึ้นสอดคล้องกับชื่อเรือ ปัจจุบันพบการสะกดชื่อเรือเป็นสองแบบตามที่ปรากฏในเอกสาร และมีการสะกดคำว่า เหิร เป็น เหิน ตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทย (แต่ยังคงความหมายเดิม)
เอกไชยเหินหาว แปลว่า ความเจริญความดีเลิศทะยานสู่ท้องฟ้า หากเขียนเป็น เอกชัยเหินหาว แปลว่า ชัยชนะสูงสุดทะยานสู่ท้องฟ้า
เอกไชยหลาวทอง แปลว่า เรือทองที่บรรจงสร้าง (โดยการหลาวหรือเหลา) เพื่อความเจริญและความดีเลิศ หากเขียนเป็น เอกชัยหลาวทอง แปลว่า เรือทองที่บรรจงสร้าง (โดยการหลาวหรือเหลา) เพื่อชัยชนะ
ปัจจุบันเรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองใช้เป็นเรือคู่ชัก จัดอยู่ในริ้วที่ ๒ และริ้วที่ ๔ ขนาบข้างเรือพระที่นั่ง เรือทั้ง ๒ ลำมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้ คือ บนเรือเอกไชยเหินหาวจะมีกระบอกสำหรับปักพระอภิรุม ซึ่งประกอบด้วย ฉัตร ๗ ชั้น ฉัตร ๕ ชั้น ฉัตรชุมสาย (ฉัตร ๓ ชั้น) ซึ่งจะไม่พบบนเรือเอกไชยหลาวทอง ทั้งนี้เนื่องจากเรือเอกไชยเหินหาวเคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งรองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามฯ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๐ มาก่อน ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
(จำนวนผู้เข้าชม 6218 ครั้ง)