...

ภาพ ‘ชีวิตประจำวัน’ ของ มานิตย์ ภู่อารีย์

         ภาพ ‘ชีวิตประจำวัน’ ของ มานิตย์ ภู่อารีย์

         100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรีศิลปแห่งนวสมัย

         ในกลุ่มลูกศิษย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มานิตย์ ภู่อารีย์ (พ.ศ. 2478 - 2551) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2542 คือหนึ่งในลูกศิษย์ที่มีผลงานโดดเด่น โดยเฉพาะงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์แกะไม้ที่ถ่ายทอดความประทับใจในวิถีชีวิตแบบไทย มานิตย์นำเอาศิลปะแบบไทยประเพณีมาผสมผสานกับความเป็นสากลในงานศิลปะแบบสมัยใหม่ พร้อมกับศิลปินในช่วงเวลานั้น เช่น เขียน ยิ้มศิริ ประสงค์ ปัทมานุช ประพัฒน์ โยธาประเสริฐ ชลูด นิ่มเสมอ ประหยัด พงษ์ดำ และประพันธ์ ศรีสุตา เป็นต้น ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานแนวผสมผสาน จนเกิดเป็นกระแสเคียงคู่กับงานศิลปะสมัยใหม่แบบตะวันตกที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนั้น (ราว พ.ศ. 2500 - 2510) 

         มานิตย์เป็นชาวธนบุเรียน เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต (เกียรตินิยม) เมื่อ พ.ศ. 2502 ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ศาสตราจารย์ศิลป์ได้มอบหมายให้มานิตย์ช่วยสอนในวิชา Research of Old Thai Art ที่คณะจิตรกรรมฯ พ.ศ. 2505 มานิตย์ได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาต่อเฉพาะทางในวิชาจิตรกรรมที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงโรม (L’Accademia di Belle Arti di Roma) ประเทศอิตาลี

“นายๆ นายสร้าง Compose ใหม่ที่นายรู้สึกนะ

ทำอย่างที่เป็นตัวนาย สภาพแวดล้อมของนายน่ะ

นายไม่ต้องไปลอกฝรั่ง มันเป็นขโมย 

นายอย่าไปทำอย่างนั้นเหมือนคนอื่นไม่เอา”

         ด้วยคำแนะนำของศาสตราจารย์ศิลป์ ทำให้มานิตย์ซึ่งเติบโตมาในบ้านที่อยู่ท่ามกลางท้องร่องสวนฝั่งธนบุรี สร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของชาวสวนตาล พ.ศ. 2502 มานิตย์ เขียนภาพ ‘น้ำตาลสด’ ด้วยสีฝุ่นบนแผ่นกระดานอัด (Masonite Board) แสดงภาพชาวบ้านกำลังหามกระบอกน้ำตาลสด และส่งเข้าร่วมการประกวดในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2502) โดยได้รับประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม ภาพ ‘ชีวิตประจำวัน (ชาวสวน)’ (ภาพที่ 1 - 2) และภาพ ‘ชีวิตประจำวัน’ (ภาพที่ 3 - 4) ซึ่งจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” น่าจะเป็นภาพในชุดเดียวกันกับ ‘น้ำตาลสด’ ภาพชุดนี้ของมานิตย์เขียนขึ้นจากความผูกผันและความประทับใจในวิถีชีวิตแบบไทย เป็นการหยิบยกเรื่องราวแสนธรรมดาในชีวิตประจำวันมานำเสนอในบรรยากาศแบบใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี การเขียนภาพบุคคลยังคงลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์แบบไทยโบราณ เช่น การเขียนเค้าโครงใบหน้า และการแสดงท่าทางอย่างนาฏลักษณ์ (ท่ารำ) ผสมผสานกับการวางโครงภาพแบบงานศิลปะตะวันตก

         นอกจากผลงานทั้ง 2 ชิ้นที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ยังมีผลงานชิ้นอื่นๆ ของมานิตย์อีก เช่น ภาพลายเส้นเอกรงค์เขียนด้วยถ่าน ‘สามพี่น้อง’ (พ.ศ. 2502) และภาพ ‘แม่ค้า’ (พ.ศ. 2505) (ภาพอยู่ในคอมเมนต์) ซึ่งมีรูปแบบเดียวกันกับภาพ ‘ชีวิตประจำวัน’ นอกจากนี้ ในนิทรรศการ “ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 9” นิทรรศการส่วนต่อขยายที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานศิลปะสมัยใหม่ของไทยที่ตั้งอยู่ติดกันนั้น ยังมีผลงานชิ้นสำคัญของมานิตย์จัดแสดงอยู่อีก เช่น ‘ตะกร้อ’ (พ.ศ. 2504) (ภาพอยู่ในคอมเมนต์) ภาพพิมพ์แกะไม้ที่ได้รับประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2504) ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ได้วิจารณ์ผลงานชิ้นนี้ไว้ว่า “...ภาพพิมพ์ตะกร้อของเขานั้น ทั้งชวนให้ขบขันและขณะเดียวกันก็แสดงคุณค่าในทางศิลปะไปด้วย...” และ ‘แย่งอาหาร’ (พ.ศ. 2505) (ภาพอยู่ในคอมเมนต์) ภาพพิมพ์แกะไม้ที่รับประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 (พ.ศ. 2505) ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ครั้งที่ 3 และทำให้มานิตย์ได้รับเกียรติยกย่องเป็น “ศิลปินชั้นเยี่ยม” ประเภทภาพพิมพ์ ในปีนั้น

         นิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 9 เมษายน 2566 ณ อาคารนิทรรศการ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มานิตย์ ภู่อารีย์ ได้ที่

https://www.facebook.com/.../a.242467477.../2481030625361612

อ้างอิงจาก

1. หนังสือ “5 ทศวรรษ ศิลปกรรมแห่งชาติ 2492 - 2541” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

2. หนังสือ “6 ทศวรรษ ศิลปกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี

3. หนังสือ “ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9” โดย ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี และรองศาสตราจารย์ สุธี คุณาวิชยานนท์

(จำนวนผู้เข้าชม 1401 ครั้ง)