...

‘เศร้า’ โดย ชำเรือง วิเชียรเขตต์

          ‘เศร้า’ โดย ชำเรือง วิเชียรเขตต์

          100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรีศิลปแห่งนวสมัย

          ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นครูผู้ให้โอกาสทางการศึกษาศิลปะแก่ลูกศิษย์อยู่เสมอ แม้ว่าคนๆ นั้นจะยังมิได้เป็นศิษย์ของท่านก็ตาม ชำเรือง วิเชียรเขตต์ (พ.ศ. 2474 – 2564) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2539 เป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสนั้น เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรค์ ชำเรืองเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ และเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ตามลำดับ เมื่อเรียนจบชั้นปีที่ 2 ของโรงเรียนเพาะช่าง ชำเรืองได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำให้พลาดการสอบเทียบวุฒิเพื่อเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2533 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างในขณะนั้น จึงได้พาชำเรืองไปพบกับศาสตราจารย์ศิลป์

“อาจารย์ บ้านเขาอยู่ไกล เขามาไม่ทัน เขามีนิสัย”

          คือคำพูดสั้นๆ ที่ทวีแนะนำชำเรืองให้กับศาสตราจารย์ศิลป์ ท่านมองหน้าชำเรืองแล้วจึงเดินขึ้นไปพบ ศาสตราจารย์ พล.อ. หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) อธิบดีกรมศิลปากรและผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น เพื่อขอให้เปิดสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรรอบสอง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชำเรืองได้เข้าเรียนศิลปะอย่างเป็นระบบภายใต้การอำนวยการของศาสตราจารย์ศิลป์ และกลายเป็นประติมากรอย่างเต็มตัว

          ชำเรืองเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ที่มีความโดดเด่นในด้านการสร้างสรรค์งานประติมากรรม ผลงานของชำเรืองแตกต่างจากประติมากรส่วนใหญ่ในยุคนั้นที่เน้นความเหมือนจริง งานประติมากรรมของชำเรืองได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของมนุษย์และสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งถูกตัดทอนรายละเอียดต่างๆ ลง เหลือเพียงรูปทรงอันเรียบง่ายตามแนวทางของงานศิลปะแบบกึ่งนามธรรม (Semi Abstract) และนามธรรม (Abstract) 

          ‘เศร้า’ ฝีมือชำเรือง เป็นประติมากรรมปลาสเตอร์รูปมนุษย์นั่งชันเข่า ค้อมศีรษะลงพื้น ซ่อนใบหน้าไว้ด้านในลำตัว คล้ายคนอยู่ในอาการเศร้าหรือกำลังร้องไห้ ร่างกายถูกออกแบบให้ยืดยาวกว่าปกติ ผิดหลักกายวิภาค ศีรษะและร่ายกายเรียบเกลี้ยง ปราศจากริ้วรอยของกล้ามเนื้อและกระดูก มวลของประติมากรรมมีความนุ่มนวล กลมกลึง และลื่นไหลด้วยเส้นโค้งเว้า ‘เศร้า’ ได้รับประกาศนียบัตรเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทประติมากรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 7 (พ.ศ. 2499) เมื่อสิ้นสุดการแสดงผลงาน ศาสตราจารย์ศิลป์ได้ขอยืมไปจัดแสดงไว้ในห้องทำงานของท่าน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ปัจจุบันประติมากรรมชิ้นนี้ยังคงตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนั้น จนกระทั่งเคลื่อนย้ายมาเพื่อจัดแสดงชั่วคราวในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย”

          ‘เศร้า’ โดย ชำเรือง วิเชียรเขตต์ จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 9 เมษายน 2566 ณ อาคารนิทรรศการ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

 

ที่มา

สูจิบัตรนิทรรศการผลงานประติมากรรม เชิดชูเกียรติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาประติมากรรม อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ โดย ภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 1054 ครั้ง)


Messenger