...

ดำรง วงศ์อุปราช (พ.ศ. 2479 – 2545)
ดำรง หรือ รงค์ วงศ์อุปราช เกิดเมื่อ พ.ศ. 2479 ที่จังหวัดเชียงราย เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2505 ได้รับทุนการศึกษาจากบริติช เคานซิล ให้ไปศึกษาต่อที่ Slade School of Fine Arts กรุงลอนดอน ต่อมาในปี 2511 ได้รับทุนจอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ ที่ 3 เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา และในปี 2512 ไปศึกษาเพิ่มเติมทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมืองนิวยอร์ก หลังจากสำเร็จการศึกษา ดำรงได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และร่วมก่อตั้งหมวดวิชาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2519 ได้รับทุนจากเจแปนฟาวน์เดชั่นและเป็นศิลปินในพำนัก ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2539 เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดำรงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะ จากการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งที่ 7 – 15 (พ.ศ. 2499 – 2507) ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง 1 ครั้ง รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน 4 ครั้ง และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง 3 ครั้ง ผลงานที่สร้างชื่อให้แก่ดำรงคือ ภาพ “หมู่บ้านชาวประมง” เขียนด้วยสีฝุ่นบนผ้า ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2503)
ดำรงเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ผลงานในระยะแรกนำเสนอภาพวิถีชีวิตและทิวทัศน์ชนบทของไทยที่ถ่ายทอดด้วยแนวทางของศิลปะสมัยใหม่ ดำรงใช้สีฝุ่นและเฉดสีที่สมดุลในการสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ ยังใช้เส้นสีดำคมชัดในการตัดขอบองค์ประกอบต่างๆ ในภาพ บรรยากาศของผลงานดูสงบ สะท้อนถึงความเรียบง่ายของวิถีชีวิตคนไทยในชนบท ผลงานในระยะแรกนับเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับดำรงเป็นอย่างมาก
ผลงานชิ้นสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ภาพเขียนสีฝุ่นและสีน้ำมันที่ถ่ายทอดทิวทัศน์บ้านเรือนของชาวไร่ชาวนา และภาพวิถีชีวิตของชาวประมงหรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลอง ผลงาน “หมู่บ้านชาวประมง” ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่ควบคุมสีภายในภาพด้วยสีเหลืองและสีน้ำตาลเฉดต่างๆ อย่างสมดุล แต่งแต้มด้วยสีแดงและสีขาวบางส่วนเพื่อทำให้เกิดจุดนำสายตาและลดทอนความราบเรียบของผลงาน นอกจากภาพเขียนสีฝุ่นและสีน้ำมันแล้ว ดำรงยังสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบเดียวกันด้วยเทคนิคต่างๆ บนวัสดุอันหลากหลาย
ในสูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2503) ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้บันทึกเกี่ยวกับดำรงและผลงานในระยะแรกไว้ว่า “...นายดำรง วงศ์อุปราช เป็นช่างเขียนหนุ่ม ซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากความเป็นไทย... ดำรงเขียนภาพให้มีส่วนละเอียดได้อย่างถูกต้องเหมือนอย่างศิลปินโบราณทีเดียว... เรารู้สึกสบายใจและมีความใฝ่ฝันที่จะไปอยู่ในดินแดนเช่นนั้นกับบุคคลเหล่านั้น ขอย้ำว่าเราได้กล่าวถึงภาพเขียนเหล่านี้เมื่อปีที่แล้วว่า ช่างเขียนมิได้เขียนภาพคนแต่ถ้าว่าเรามีความรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งในอันที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวชนบทที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อได้เห็นภาพของชนบทเช่นนั้น...”
ดำรงเป็นศิลปินที่มีประสบการณ์จากการเดินทางไปศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านศิลปะในหลายประเทศ รูปแบบของผลงานจึงแปรเปลี่ยนไปตามประสบการณ์และความสนใจของศิลปินในแต่ละช่วงเวลา ราวปี 2504 ดำรงเริ่มเขียนภาพแนวคิวบิสม์มากขึ้น จนกระทั่งคลี่คลายจากรูปแบบเหมือนจริงที่นิยมเขียนในระยะแรกไปสู่แนวนามธรรมและเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ในช่วงปลายทศวรรษเป็นต้นไป ผลงานในระยะนี้มีรูปทรงอิสระ แสดงออกด้วยฝีแปรงที่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง สีสันสดใส แตกต่างจากผลงานในระยะแรกอย่างชัดเจน ผลงานบางชิ้นยังแสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตและเรื่องราวในชนบทของไทย ผ่านวัตถุซึ่งถูกลดทอนรายละเอียดให้เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิต
ในระหว่างที่เป็นศิลปินในพำนัก ณ เมืองเกียวโต ดำรงเริ่มกลับมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยรูปแบบเหมือนจริงกึ่งนามธรรมอีกครั้ง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเสาโทริหรือซุ้มประตูสีแดงขนาดใหญ่ของวัดในศาสนาชินโต เมื่อกลับมาพำนักที่ประเทศไทย ดำรงได้สร้างสรรค์ผลงานชุดใหม่ด้วยแรงบันดาลใจจากวิถีความเป็นอยู่ในชนบทและทิวทัศน์บ้านเรือนของชาวนาไทยอีกครั้ง รูปแบบการเขียนภาพมีความคล้ายคลึงกับผลงานในระยะแรก แต่แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ชนบทที่สงบ เรียบง่าย ในมุมมองที่กว้างไกลและลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม โดยปราศจากรูปคน
ดำรงเป็นทั้งศิลปิน ครูสอนศิลปะ นักวิชาการ ควบคู่ไปกับการเป็นภัณฑารักษ์และบริหารจัดการหอศิลป์ ในปี 2542 ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในฐานะศิลปินที่สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะไทยตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี แม้ว่าจะเริ่มต้นชีวิตการเป็นศิลปินตั้งแต่วัยหนุ่ม ผ่านพ้นวันวานแห่งความรุ่งโรจน์ แต่ยังคงทำงานศิลปะจวบจนปีสุดท้ายของชีวิต ดำรง วงศ์อุปราช ถึงแก่กรรมในปี 2545 สิริอายุ 66 ปี
ที่มา
1. หนังสือ “5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ 2492 – 2541” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. หนังสือ “ดำรง วงศ์อุปราช: ทัศนศิลป์แห่งชีวิต” โดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ที่มาภาพ
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 3185 ครั้ง)


Messenger