ประยูร อุลุชาฎะ (พ.ศ. 2471 – 2543)
ประยูร อุลุชาฎะ เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2471 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดกลาง (โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการ) ประยูรมีแววเป็นจิตรกรและนักเขียนตั้งแต่เด็ก ฝึกเขียนรูปด้วยการลอกจากหนังสือฝรั่ง ครูเห็นว่ามีฝีมือดี จึงใช้ให้เขียนแผนที่บนกระดานดำ เขียนรูปอวัยวะ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ จนได้ชื่อว่าเป็น “ช่างวาดของโรงเรียน” พ.ศ. 2486 ประยูรเริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกฝึกหัดครูช่าง พ.ศ. 2488 เข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จบการศึกษาระดับอนุปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาจิตรกรรม พ.ศ. 2495 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ริเริ่มให้มีการก่อตั้งโรงเรียนศิลปศึกษา หรือโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมอบหมายให้ประยูรเป็นผู้ร่างหลักสูตร เขียนตำราเรียน และดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ ควบคู่กับการสอนที่คณะจิตรกรรมฯ
พ.ศ. 2500 ประยูรประสบปัญหาจนต้องลาออกจากราชการ จากนั้นได้เริ่มศึกษาค้นคว้าและเขียนบทความวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และโหราศาสตร์ โดยใช้นามปากกาแตกต่างกันไปตามประเภทของหนังสือที่เขียน เช่น น. ณ ปากน้ำ ใช้เขียนเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ต่อมาประยูรได้ออกเดินทางสำรวจโบราณสถานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้ผู้คนได้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะไทยมากยิ่งขึ้น
ประยูรสร้างสรรค์ผลงานทั้งจิตรกรรมไทยประเพณีและศิลปะสมัยใหม่ ผลงานส่วนใหญ่มีรูปแบบของศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) และเอ็กเพรสชันนิสม์ (Expressionism) โดยใช้เทคนิคสีน้ำมัน สีน้ำ และสีชอล์ก ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความประทับใจ ผ่านสีและฝีแปรง เช่น ผลงาน “วัดมหาธาตุ อยุธยา” มีการลดรายละเอียดต่างๆ เหลือไว้เพียงโครงร่างของโบราณสถาน โดยใช้เทคนิคการแต้มและปาดสีซ้ำๆ กัน สีที่แต้มลงไปนั้นมีโครงสีที่โปร่ง บาง สะอาดสดใส ประสานกันอย่างนุ่มนวล
ผลงาน “จันทบุรี” เป็นผลงานที่สร้างชื่อให้แก่ประยูรเป็นอย่างมาก เป็นภาพทิวทัศน์จากมุมสูง ไม่เห็นรายละเอียดมากนัก เน้นการแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกตามบรรยากาศของแสงและสีแบบผลงานแนวอิมเพรสชันนิสม์ ลักษณะของฝีแปรงมีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีชีวิตชีวา สีสันที่เลือกใช้มีความสดใสและสอดประสานกันเป็นอย่างดี มีการให้น้ำหนักของสีแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เพื่อสร้างระยะใกล้ไกลให้กับภาพ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง สาขาจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2498)
นอกจากนี้ ประยูรยังได้คัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังตามแหล่งโบราณสถานและวัดวาอารามต่างๆ ที่ไปทำการสำรวจร่วมกับศิลปินท่านอื่นๆ ได้แก่ เฟื้อ หริพิทักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์ และอวบ สาณะเสน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงคุณค่าและความงดงามของภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณีที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา อันเป็นประโยชน์แก่การศึกษาทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะไทย
ประยูรได้รับปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาประยุกตศิลปศึกษา) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2526 และด้วยความรู้ความสามารถหลายด้าน ประกอบกับเกียรติคุณที่ได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลาหลายปี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อ พ.ศ. 2535 ประยูร อุลุชาฎะ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2543 ด้วยโรคหัวใจวาย สิริอายุ 72 ปี
ที่มา
1. หนังสือ “ชีวิตและงานของอาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ” โดย วิบูลย์ ลี้สุวรรณ
2. หนังสือ “5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ 2492 – 2541” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
3. หนังสือ “นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป” โดย สมพจน์ สุขาบูลย์
(จำนวนผู้เข้าชม 3057 ครั้ง)