ภาพร่างต้นแบบจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส
28 เมษายน 2565
วันคล้ายวันประสูติปีที่ 159
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) กับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ทรงเป็นพระบรมวงศ์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในงานช่างและศิลปะหลากหลายแขนง ทรงควบคุมงานด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมของราชสำนักสยาม ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า “สมเด็จครู” และ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม”
พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ กำแพงแก้ว และสะพานนาคหน้าพระอุโบสถวัดราชาธิวาส ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก นอกจากจะทรงออกแบบงานสถาปัตยกรรมแล้ว ภายในพระอุโบสถยังปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องเวสสันดรชาดกครบทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้ออกแบบ และโปรดให้ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้ขยายแบบและลงสีด้วยเทคนิคเฟรสโก (การเขียนสีบนผนังปูนเปียก)
ผลงานที่ปรากฏอยู่ด้านล่าง เป็นภาพร่างต้นแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส จากคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผ่นไม้ ภาพร่างดังกล่าวเป็นต้นแบบจิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถด้านทิศเหนือ ผลงานชิ้นนี้นับเป็นต้นเค้าของการเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องทางพุทธศาสนาที่ใช้หลักทัศนียวิทยา (Perspective) และการเขียนองค์ประกอบต่างๆ ทั้งคน สัตว์ และธรรมชาติอย่างสมจริง แตกต่างจากงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีที่เขียนภาพเป็น 2 มิติ และนิยมเขียนรูปคนแสดงท่าทางอย่างนาฏยลักษณ์ นอกจากขรัวอินโข่งที่เป็นผู้ริเริ่มการเขียนภาพจิตรกรรมไทยอย่างตะวันตกแล้ว ก็มีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ทรงนำเอาศิลปะตะวันตกซึ่งแพร่หลายในสยาม ณ ขณะนั้น มาประยุกต์ใช้กับงานช่างไทยได้อย่างกลมกลืน ลงตัว และมีเอกลักษณ์
ผลงาน: ภาพร่างต้นแบบจิตรกรรมฝาผนัง
ภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส
ศิลปิน: สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เทคนิค: สีฝุ่นบนแผ่นไม้
ขนาด: 70.5 x 100 ซม.
(จำนวนผู้เข้าชม 1599 ครั้ง)