...

ชุดภาพร่างจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ชุดภาพร่างจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรีศิลปแห่งนวสมัย
พระพุทธรัตนสถาน เป็นอาคารทรงไทยประเพณีที่ตั้งอยู่ในสวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพระวิหารสำหรับประดิษฐาน ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ หรือ ‘พระแก้วขาว’ พระพุทธรูปที่สร้างด้วยแก้วผลึกสีขาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โปรดให้อัญเชิญมาจากเมืองจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อ พ.ศ. 2354 ภายในพระพุทธรัตนสถานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณี เล่าประวัติของพระพุทธบุษยรัตน์ฯ และการอัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พระพุทธรัตนสถานได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศ ทำให้ชายคา ฝาผนัง รวมทั้งงานจิตรกรรมระหว่างช่องหน้าต่างชำรุดเสียหาย พ.ศ. 2504 สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเขียนภาพขึ้นใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ศาสตราจารย์ศิลป์ ออกแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างด้วยมุมมองแบบใหม่ โดยใช้หลักทัศนียวิทยา (Perspective) ในการเขียนภาพให้เหมือนกันกับที่สายตาของมนุษย์มองเห็น แตกต่างจากงานจิตรกรรมฝาผนังด้านบนเหนือช่องหน้าต่างแบบไทยประเพณีที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นมุมมองแบบอุดมคติ คล้ายกับนกที่มองลงมาจากท้องฟ้า (Bird’s eye view) ภาพจิตรกรรมที่ท่านออกแบบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ในช่วง พ.ศ. 2488 – 2499 รวมทั้งสิ้น 8 ช่อง ต่อมาในปี 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างขึ้นใหม่เป็นแบบไทยประเพณี ให้สอดคล้องกับรูปแบบของภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านบนเหนือช่องหน้าต่าง โดยเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 – 9 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2547
ชุดภาพร่างจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธรัตนสถาน ฝีมือศาสตราจารย์ศิลป์ ที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” จึงเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญของท่านในด้านการทำนุบำรุงงานศิลปะของชาติไทย เนื่องจากเป็นต้นแบบและหลักฐานการมีอยู่ของภาพจิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่าง พระพุทธรัตนสถาน ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 ซึ่งในปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยงานจิตรกรรมที่เขียนขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2547 ภาพร่างชุดนี้มีทั้งหมด 19 ภาพ แบ่งเป็น
1. ภาพลายเส้นปากกาลงสีน้ำ เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. 2489 จำนวน 6 ภาพ
2. ภาพลายเส้นปากกาลงสีน้ำ เรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์ พระพุทธรัตนสถาน เมื่อ พ.ศ. 2492 จำนวน 4 ภาพ
3. ภาพลายเส้นปากกาลงสีน้ำ เรื่องพระราชพิธีทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. 2499 จำนวน 5 ภาพ
4. ภาพลายเส้นปากกา เรื่องพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 4 ภาพ
ชุดภาพร่างจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 9 เมษายน 2566 ณ อาคารนิทรรศการ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 792 ครั้ง)


Messenger