112 ปี แห่งการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้า เจ้าสยาม
112 ปี แห่งการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้า เจ้าสยาม
23 ตุลาคม 2565 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี แรกเริ่มเดิมทีสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า ต่อมาในรัชกาลของพระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้รื้อถอนและก่อสร้างโรงงานผลิตเหรียญขึ้นบนที่ดินแห่งนี้ พระราชทานนามว่า “โรงกษาปณ์สิทธิการ” เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระองค์ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดและเดินเครื่องจักรเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 โรงกษาปณ์แห่งนี้ใช้งานเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2511 และถูกทิ้งร้างนับแต่นั้นเป็นต้นมา ในวาระครบรอบ 100 ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย พ.ศ. 2517 กรมศิลปากรจึงได้เสนอขอใช้อาคารโรงกษาปณ์สิทธิการจากกรมธนารักษ์เพื่อปรับปรุงและจัดตั้งเป็น “หอศิลปแห่งชาติ”
เมื่อโรงกษาปณ์สิทธิการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ได้ปรับปรุงและเปลี่ยนสถานะเป็นหอศิลป์/พิพิธภัณฑ์ทางด้านศิลปะสมัยใหม่ สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวบรวมผลงานศิลปะที่เป็นสมบัติของชาติ ห้องจิตรกรรมในราชสำนักภายในอาคารนิทรรศการถาวรเป็นห้องที่จัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ หนึ่งในนั้นคือพระบรมสาทิสลักษณ์ครึ่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนโดย เอ็ดวาร์โด เยลลี (Edoardo Gelli) จิตรกรชาวอิตาเลียน ที่พำนักอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ ภาพเขียนชิ้นนี้มีความงดงาม โดดเด่น และสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการนำพาสยามให้อยู่รอดในระเบียบโลกแบบใหม่ โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางอำนาจของราชอาณาจักร
เอ็ดวาร์โด เยลลี เกิดที่เมืองซาโวนา (Savona) ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2395 เริ่มศึกษาการเขียนภาพที่สถาบันศิลปะลุคคา (Accademia di Lucca) ต่อมาได้เป็นลูกศิษย์ของ แอนโตนิโอ ซิเซริ (Antonio Ciseri) ที่เมืองฟลอเรนซ์ เยลลีเริ่มมีชื่อเสียงในด้านการเขียนภาพสีน้ำมัน ได้รับการว่าจ้างให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของจักรพรรดิแห่งออสเตรียและกษัตริย์ยุโรปอีกหลายพระองค์ ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมศิลปะแห่งเมืองฟลอเรนซ์ (Circols Artistico di Firenze) เยลลีถึงแก่กรรมที่เมืองฟลอเรนซ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2476 ในการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง (พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มายังสตูดิโอของเยลลีเพื่อประทับเป็นแบบให้เขียนภาพและเลือกซื้อผลงานของเขา
สำหรับพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (ภาพที่ 1) เยลลีจัดวางตำแหน่งของพระพักตร์และพระวรกายให้ทำมุมเฉียงเล็กน้อย พระเนตรสงบนิ่ง เยือกเย็น แต่มีชีวิตชีวา มองตรงมายังผู้ชมภาพ พระศอยืดตรง พระอุระกว้าง ผึ่งผาย ดูสง่างาม สัดส่วนของพระเศียรดูเล็กกว่าปกติเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพระวรกาย นับเป็นเรื่องปกติที่จิตรกรซึ่งช่ำชองในการเขียนภาพเหมือนบุคคลจะปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างเพื่อนำเสนอและส่งเสริมภาพลักษณ์ของบุคคลต้นแบบให้ออกมาสมบูรณ์ตามที่จิตรกรหรือผู้ว่าจ้างต้องการ ในกรณีนี้ เยลลีได้ขับเน้นความสง่างามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งสยามผ่านพระบรมสาทิสลักษณ์ได้อย่างสมพระเกียรติ นอกจากนี้ การจัดแสงเงาและการให้สีของวัตถุที่แสงตกกระทบยังช่วยขับองค์ประกอบต่างๆ บนฉลองพระองค์ให้มีความโดดเด่น ชัดเจน และจับสายตาของผู้ชมภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านขวาล่างของพระบรมสาทิสลักษณ์ปรากฏข้อความในภาษาอิตาเลียนที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า (ภาพที่ 2)
“ให้แก่เพื่อน
วิตตอริโอ เซจโจ้
อี. เยลลี เป็นที่ระลึก”
โดยตัวอักษร E (Edoardo) และ G (Gelli) ใบบรรทัดสุดท้ายเขียนซ้อนกัน ตามด้วยตัวอักษร elli แบบตัวเขียนภาษาอังกฤษ รวมเป็น E. Gelli หรือ Edoardo Gelli ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในการลงชื่อบนภาพเขียนของเยลลี (ภาพที่ 3) ส่วนวิตตอริโอ เซจโจ้ (Vittorio Zeggio) คนนี้คือ กงสุลกิตติมศักดิ์แห่งราชอาณาจักรสยาม ผู้จัดการเรื่องการเสด็จประพาสอิตาลีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2450 ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ บ้านของเซจโจ้ในเมืองฟลอเรนซ์ เซจโจ้ได้จัดการให้พระองค์ทรงพบปะกับจิตรกรและประติมากรชาวอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นหลายคน นอกจากนี้ ยังทรงประทับเป็นแบบให้จิตรกรได้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ระหว่างเสด็จฯ เยือนสตูดิโอด้วยความอดทน
หากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพ พระบรมสาทิสลักษณ์ก็เป็นดั่งประกาศกของพระองค์ ภาพเหมือนบุคคลมิได้เป็นเพียงภาพแทนตัวหรือสิ่งที่แสดงรสนิยมส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการประกาศและสื่อสารนัยทางสังคมและการเมือง ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 - 20 ต้องเผชิญกับการแผ่ขยายของลัทธิจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส การเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การแสดงออกให้ชาติตะวันตกเห็นว่าสยามยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกแบบใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น การว่าจ้างศิลปินชาวยุโรปให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ ปั้นหล่อพระบรมรูป และสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ก็เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นศูนย์กลางอำนาจและสำนึกร่วมของราษฎรในราชอาณาจักรผ่านงานศิลปกรรม
ในอนาคตอันใกล้นี้ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือ เอ็ดวาร์โด เยลลี จะได้กลับมาจัดแสดง ณ ห้องจิตรกรรมในราชสำนักอีกครั้ง หลังจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ดำเนินการปรับปรุงอาคารนิทรรศการถาวรมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากปิดปรับปรุง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ได้เริ่มอนุรักษ์ผลงานศิลปะที่จัดแสดงภายในอาคารนิทรรศการถาวร พระบรมสาทิสลักษณ์ชิ้นนี้ผ่านการอนุรักษ์อย่างพิถีพิถันโดย คุณขวัญจิต และคุณสุริยะ เลิศศิริ ซึ่งเผยให้เห็นสีสันที่แท้จริงและความงดงามของพระบรมสาทิสลักษณ์ในแบบที่เยลลีต้องการให้ผู้ชมภาพได้เห็น (ภาพที่ 4) หากการปรับปรุงอาคารนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้เข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป จะแจ้งให้ทุกท่านทราบโดยเร็วที่สุด
อ้างอิงจาก
1. หนังสือ “จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก” โดย ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปศยานนท์
2. หนังสือ “ชาวอิตาเลียนในราชสำนักไทย” โดย กระทรวงวัฒนธรรม
(จำนวนผู้เข้าชม 413 ครั้ง)