...

หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล

     หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2440 เป็นพระธิดาองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเฉื่อย ดิศกุล ณ อยุธยา ท่านหญิงพิไลยเลขาเริ่มสนพระทัยในงานศิลปะตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทอดพระเนตรภาพวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นทรงเขียนตามด้วยเห็นว่าสนุก และโปรดการเขียนภาพนับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านหญิงพิไลยเลขาได้รับการสนับสนุนให้เรียนศิลปะจากสมเด็จพระบิดา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จอาของพระองค์ เมื่อเจริญพระชันษาทรงดัดแปลงที่ประทับชั้นล่างให้เป็นสตูดิโอสำหรับใช้ฝึกฝนการเขียนภาพ เรียกว่า “ตำหนักเลขา” 

     ท่านหญิงพิไลยเลขาทรงเรียนศิลปะอย่างเป็นระบบจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ทรงศึกษางานจิตรกรรมแบบตะวันตกจากสถาปนิกและจิตรกรชาวอิตาเลียนที่รับราชการในราชสำนักสยามตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เช่น แอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) คาร์โล ริโกรี (Carlo Rigoli) และเอมิลิโอ ฟอร์โน (Emilio Forno) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาทฤษฎีทางด้านศิลปะกับศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) และทรงแลกเปลี่ยนมุมมองในการสร้างสรรค์งานศิลปะกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ผ่านทางจดหมายอยู่เสมอ

     ท่านหญิงพิไลยเลขาสนพระทัยงานศิลปะทั้งแบบไทยประเพณีและแบบตะวันตก งานจิตรกรรมที่ทรงสร้างสรรค์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ภาพสถาปัตยกรรมและพระพุทธรูปเพื่อการศึกษา ภาพหุ่นนิ่ง (Still life) ภาพทิวทัศน์ (Landscape) และภาพเหมือนบุคคล (Portrait) หรือสัตว์ ภาพหุ่นนิ่ง “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” นับเป็นผลงานชิ้นเอกของท่านหญิงพิไลยเลขา ทรงใช้เทคนิคสีน้ำมันบนแผ่นไม้ จัดวางองค์ประกอบภาพและเก็บรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นแบบอย่างประณีต ประยูร อุลุชาฏะ หรือ น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เคยกล่าวยกย่องท่านหญิงพิไลยเลขาไว้ว่า “ในบรรดาจิตรกรหญิงสมัครเล่นที่ไม่ได้ประกอบอาชีพในทางศิลปะ ท่านหญิงพิไลยเลขาเป็นผู้ที่ฝีมือเลอเลิศไม่มีใครเทียบ” 

     ด้วยทักษะและความสามารถในงานด้านจิตรกรรมของท่านหญิงพิไลยเลขา ตลอดจนความเข้าใจในเรื่องสุนทรียศาสตร์ ทำให้ทรงได้รับเชิญเป็นคณะกรรมการจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการตัดสินผลงานการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2492 – 2493) นอกจากนี้ ทรงส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งที่ 1 – 7 (พ.ศ. 2492 – 2499) และทรงส่งผลงานเข้าร่วมแสดงเป็นครั้งสุดท้ายในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2501) ซึ่งเป็นปีที่ท่านหญิงทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงนัก และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็หยุดทรงงานด้วยปัญหาเรื่องพระพลานามัย

หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2528 สิริพระชันษา 88 ปี ต่อมาหม่อมราชวงศ์ นุดีตรีทิพย์ กมลาสน์ พระนัดดาของท่านหญิงได้มอบภาพเขียนทั้งหมดให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรมศิลปากร เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางด้านศิลปะของไทย

 

ที่มา

1. หนังสือประกอบนิทรรศการ “ศรัทธา ศาสนา ความเชื่อ” โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

2 สูจิบัตรประกอบนิทรรศการ “5 ศิลปินสตรี กับบทบาทแห่งการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ของไทย” โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

3. หนังสือ “5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ 

2492 – 2541” 

โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 2597 ครั้ง)


Messenger