หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ (พ.ศ. 2460 - 2545)
หม่อมเจ้าการวิก ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2460 เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ กับหม่อมโป๊ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารและโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. 2473 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียน Lycée Perier ประเทศฝรั่งเศส
หม่อมเจ้าการวิกมีความสนพระทัยในด้านศิลปะตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ โปรดการการเขียนภาพลายเส้นการ์ตูนล้อเลียน จึงทำให้พระองค์เริ่มเรียนรู้เทคนิคการเขียนภาพสีน้ำที่ประเทศฝรั่งเศส หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หม่อมเจ้าการวิกได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ไปประทับที่ประเทศอังกฤษเพื่อถวายการรับใช้ ระหว่างที่ตามเสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ ก็ทรงเขียนภาพทิวทัศน์ของสถานที่นั้นๆ ไว้ด้วย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น หม่อมเจ้าการวิกได้เข้าประจำการในกองทัพอังกฤษและเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ทรงใช้เวลาว่างจากการฝึกซ้อมในค่ายทหารที่ประเทศต่างๆ ด้วยการเขียนภาพสีน้ำ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หม่อมเจ้าการวิกเสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทย และได้พบกับนายโมเนต์ ซาโตมิ (Monet Satomi) อุปทูตด้านวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และศิลปินชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ณ ขณะนั้น ซาโตมิได้แนะนำให้พระองค์ลองส่งภาพเขียนสีน้ำที่มีชื่อว่า “สิงห์” (ภูเขาลูกหนึ่งในประเทศอินเดีย) เข้าร่วมประกวดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2493) โดยได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม หลังจากนั้นหม่อมเจ้าการวิกทรงส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดต่อเนื่องหลายครั้ง (ครั้งที่ 2 6 8 9 10 และ 11) และได้รับรางวัลทุกครั้งที่ส่งเข้าร่วมการประกวด
จากนั้นพระองค์ได้รับการทูลเชิญให้ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติถึง 22 ครั้ง ในฐานะผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านทัศนศิลป์ พระองค์จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการศิลปะของไทยนับแต่นั้น ทรงดำรงตำแหน่งนายกศิลปสมาคมระหว่างชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีนานาชาติ โดยการสนับสนุนศิลปินไทยให้ได้เข้าร่วมประชุม แสดงผลงานศิลปะ และศึกษาต่อในต่างประเทศ
หม่อมเจ้าการวิกเป็นจิตรกรผู้มีฝีมือสูงในการเขียนภาพสีน้ำ ผลงานในยุคแรกมีลักษณะเหมือนจริง ต่อมาจึงคลี่คลายเป็นแบบกึ่งนามธรรม พระองค์โปรดการเขียนภาพทิวทัศน์และบรรยากาศของสถานที่ต่างๆ เมื่อเสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยแล้วจึงเริ่มเขียนภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตและงานประเพณีต่างๆ ของไทย เช่น ภาพ “นครปฐม” (พระร่วงโรจนฤทธิ์/ไปไหว้พระนครปฐม) ใช้เทคนิคสีน้ำบนกระดาษ ฝีแปรงเรียบง่าย แต่แสดงถึงความเชี่ยวชาญและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2501)
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงผลงานของหม่อมเจ้าการวิกไว้ในสูจิบัตรประกอบการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 (พ.ศ. 2503) ว่า “…ภาพทิวทัศน์ต่างๆ นั้น ท่านใช้พู่กันป้ายสีสองสามครั้งก็เสร็จ…” และ “…หม่อมเจ้าการวิกท่านเขียนรูปคนขนาดเล็ก โดยใช้วิธีใช้สีแต้มเป็นจุดๆ อย่างฉลาด…” แม้ว่าจะทรงเป็นจิตรกรสมัครเล่น แต่พระองค์ก็ทรงชำนาญในการเขียนสีน้ำอย่างยอดเยี่ยม หม่อมเจ้าการวิก สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 สิริพระชันษา 85 ปี
พ.ศ. 2558 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูพระเกียรติให้หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงเป็น “บูรพศิลปิน” สาขาทัศนศิลป์
ดาวน์โหลดไฟล์: หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ (พ.ศ. 2460 - 2545).pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 1819 ครั้ง)