...

พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

      พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

      ทรงเป็นเจ้าฟ้าฯผู้เชี่ยวชาญศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งวิจิตรศิลป์ สถาปัตยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์ ในช่วงเวลาที่กระแสอารยธรรมตะวันตกถาโถมเข้าใส่สยาม ศิลปะของเราซึ่งมีระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมเคร่งครัด ต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายจากอิทธิพลของศิลปะตะวันตก พระองค์ทรงประยุกต์ปรับปรุงวิจิตรศิลป์ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติไทยด้วยการศึกษาเชิงลึกถึงรากเหง้า และคลี่คลายรูปแบบทางศิลปะให้มีความเป็นสากลจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก อันเป็นการประกาศถึงความเป็นอารยประเทศที่มีรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดในโลก
     ตลอดพระชนม์ชีพฯ ทรงอุทิศเวลาให้แก่การสร้างสรรค์ “งานช่าง” หลากสาขา ผลงานที่ทรงรังสรรค์ไว้นับเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจที่สำคัญให้แก่ช่างและศิลปินในยุคหลัง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์มรดกศิลปกรรมไทย และทรงส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถให้เป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดมรดกงานช่างศิลป์ไทยจนได้รับยกย่องให้เป็น “ สมเด็จครู “ ของช่างทั้งปวง


 

    ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ “สมเด็จครู“ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฉลองพระองค์เต็มยศ ทรงสายสะพายของเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

ศักย เขียนขึ้นในโครงการภาพผลงานผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปวัฒนธรรมของชาติ ระหว่างปี 2548 - 2549 ในช่วงเวลาไล่เลี่ยงกับภาพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

    ผลงานมีความเคร่งขรึม และสง่างาม รายละเอียดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดูสมจริง การให้สีผิวหนังของสมเด็จครูนั้นน่าตื่นตา และแสดงถึงทักษะการใช้สีอันดียิ่งของศักย

    ผลงานชิ้นนี้จัดแสดงในนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ประจำปี 2564

   ศักย ขุนพลพิทักษ์ : ศิลปินผู้ประสานจิตรกรรมไทยและตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

    ในบรรดางานจิตรกรรมแบบสมัยใหม่ ที่รับอิทธิพลตะวันตกในแนววิชาการแบบตะวันตก (academic) พื้นฐานงานมักเริ่มจาก ภาพหุ่นนิ่ง (still life) ภาพทิวทัศน์ (landscape) และภาพเหมือน (portrait) ซึ่งให้ความสำคัญกับเรียนรู้ในแนวเสมือนจริง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนลดทอนรูปร่าง พัฒนาเทคนิค และนำเสนอเรื่องราวให้หลากหลายยิ่งขึ้น ในกลุ่มผลงานต่างๆที่กล่าวมานั้น งานกลุ่มภาพเหมือนถือเป็นงานที่มีความเข้มข้นและมีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

     ศิลปินภาพเหมือนในประเทศไทยนั้น มีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่บุคคลที่ได้รับการยอมรับว่ามีฝีมือ และความลึกซึ้งในผลงานนั้น กลับมีไม่มากนัก ศักย ขุนพลพิทักษ์ อดีตจิตรกรเชี่ยวชาญ ของกรมศิลปากร ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะแนวภาพเหมือน ถึงแม้ ศักย จะเป็นชื่อที่กลุ่มคนในแวดวงงานศิลปะกลุ่มอื่นอาจจะมีความรับรู้ หรือจดจำไม่มากนัก แต่ในแวดวงศิลปะของทั้งกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยศิลปากร ศักย ขุนพลพิทักษ์ คือครู คือศิลปินภาพเหมือนผู้มุ่งมั่นในสไตล์งานที่มีพื้นฐานแบบตะวันตก ในขณะเดียวกันยังเป็นศิลปินที่สามารถเขียนภาพจิตรกรรมไทยแบบดั้งเดิมและภาพจิตรกรรมแบบใหม่ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้อย่างลงตัว โดยได้ฝากฝีมือการออกแบบ เขียนภาพจิตรกรรมไทย ในวัดสำคัญๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศไว้เป็นจำนวนมาก

(จำนวนผู้เข้าชม 14377 ครั้ง)