พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับการพัฒนาพิพิธภัณฑสถาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับการพัฒนาพิพิธภัณฑสถาน
(คัดมาจาก สมลักษณ์ เจริญพจน์. “พัฒนาการพิพิธภัณฑสถานตามแนวพระราชดำริ” พระมหากษัตริย์ไทยกับการพิพิธภัณฑ์. จัดทำโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙. กรุงเทพฯ :บริษัทกราฟฟิคฟอร์แมท (ประเทศไทยจำกัด) ,พ.ศ. ๒๕๔๑ หน้า ๙๐-๑๐๕).
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ นับแต่นั้นพระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชหฤทัยแน่วแน่ ที่จะดูแลทุกข์สุขของทวยราษฎร์ให้ทั่วถึงและมีพระทัยมั่นคงที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปให้ทันโลกในทุกๆด้าน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัย และทรงแตกฉานในวิทยาการ ทั้งทางด้านศิลปะ และวิทยาศาสตร์ ทำให้กิจการทุกเรื่องภายในประเทศ ล้วนต้องพึ่งพระปรีชาสามารถของพระองค์ไปทั้งสิ้น
“.....อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้.....”
ในฐานะคนไทย ได้ทรงแสดงให้พสกนิกรเห็นว่า พระองค์ทรงมีความซาบซึ้งในคุณค่าของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ทรงเห็นความจำเป็นในการคุ้มครองดูแล และอนุรักษ์ สมบัติวัฒนธรรมของชาติ ไว้ให้เป็นหลักฐาน ในการศึกษาหาอดีต เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ ให้คนไทยตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมไว้ให้เป็นสมบัติตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ดังพระราชดำรัส ที่คนไทยทั้งผอง ต่างจดจำมาเป็นแนวคิด ในการดำเนินแนวทางการพัฒนาประเทศสืบมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสนี้ในคราวเสด็จประพาส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยความสนพระทัยในอดีตของชาติ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ และได้ทอดพระเนตรเห็นอาคารสมัยใหม่หลังหนึ่ง สร้างขึ้นบนที่ซึ่งเคยเป็นซากโบราณสถาน ทรงตรัสว่า “...การสร้างอาคารสมัยนี้คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพ ฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย...ในการที่มีโบราณวัตถุสถาน และปูชนียสถานอยู่เป็นอันมาก ถ้าเรารู้จักวิธีนำมาใช้เกี่ยวกับการอบรมจิตใจของเยาวชน ก็จะเป็นประโยชน์มาก...”[1]กระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึง ความรักที่พระองค์มีต่อชาติ ต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนไทย ความภาคภูมิใจที่พระองค์มีต่ออารยธรรมที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ เพื่อสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันสมัย เมื่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของคนไทย ยังมีความเอาใจใส่ในเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติถึงเพียงนี้ คนไทยทั้งชาติ ย่อมน้อมรับพระราชดำริไว้เหนือเกล้า และพยายามร่วมแรงร่วมใจกันดูแลรักษาทรัพยากรทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้ตราบนานเท่านาน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัด
ด้วยความทรงเป็นนักอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ พระองค์จะทรงสดับตรับฟังเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการค้นพบสมบัติวัฒนธรรมเหล่านี้ ทั้งที่เป็นการค้นพบทางวิชาการ ค้นพบโดยบังเอิญ หรือแม้แต่เมื่อมีการลักลอบขุดค้น ซึ่งทำให้เป็นที่มาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบขึ้นในภูมิภาคต่อมา ดังเมื่อมีเหตุการณ์ คนร้ายลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และถูกจับได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แจ้งให้กรมศิลปากรทราบและพิจารณาสำรวจขุดค้นหาศิลปโบราณวัตถุที่เหลือออกมาเสีย เพื่อจะได้ไม่ให้สมบัติอันล้ำค่าของชาติสูญหายไป และจากการขุดค้นนี้ ทำให้ได้พบศิลปโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปทอดพระเนตรศิลปโบราณวัตถุดังกล่าว ณ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๐ เมื่อทอดพระเนตรสิ่งของต่าง ๆ จึงมีรับสั่งถามว่า “จะไปเก็บไว้ที่ใด...” แล้วจึงพระราชทานกระแสพระราชดำริว่า
“... โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะขณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนชมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษาและตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุของท้องถิ่นใด ก็ควรเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานของจังหวัดนั้น ๆ...”[2]
อันเป็นแนวพระราชดำริที่ก่อให้มีการริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สมบรูณ์แบบขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรก และเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔ แล้วยังทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสดังนี้
“...โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล โดยเฉพาะโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาและตั้งแสดงให้นักศึกษาและประชาชนได้ชมและศึกษาหาความรู้ให้มากและทั่วถึงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ข้าพเจ้าได้คิดมานานแล้วว่า โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ของท้องถิ่นใด ก็ควรจะเก็บรักษาและตั้งแสดงไว้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของจังหวัดนั้น ๆ ข้าพเจ้าพอใจที่กระทรวงศึกษาธิการและกรมศิลปากรที่เห็นพ้องด้วย และทำได้สำเร็จเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ กรุงศรีอยุธยาเคยเป็นราชธานีอันรุ่งเรืองอยู่ถึง ๔๑๗ ปี มีโบราณสถานโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันควรแก่การสนใจศึกษามากมาย ถ้าเราพิจารณาตามความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา ที่เคยมีมาแต่อดีตแล้ว จะเห็นกันได้ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเท่าที่มีอยู่นี้ คงจะน้อยไปเสียอีกที่จะเก็บรวบรวมและตั้งแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มีผู้กล่าวกันว่า ขณะนี้ได้มีผู้สนใจและหาซื้อโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ส่งออกไปต่างประเทศกันมาก ถ้าต่อไปภายหน้า เราจะต้องไปศึกษาหรือชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยเราเองในต่างประเทศ ก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าอับอายมาก เราจึงควรจะขวนขวายและช่วยกันหาทางรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของเรา แล้วจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษาไว้จะเป็นการดีที่สุด จริงอยู่ งานดังกล่าวนี้จะต้องใช้เวลาและเงินมาก แต่ก็เชื่อว่า ถ้าทุก ๆ ฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังแล้วก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้...”[3]
ในพุทธศักราชเดียวกัน ได้มีพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๔ ที่มีหมวดหนึ่งเป็นเรื่องของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโดยตรง อันเป็นบัญญัติที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติสืบมา และได้มีการปรับแก้ให้ทันสมัยอยู่เป็นระยะ ๆ จากผลของพระราชบัญญัตินี้ ทำให้พิพิธภัณฑสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาแต่เดิม ได้ปรับสถานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั้งสิ้น
“....นี่ถ้ากรมศิลปากรไปสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ไหนนะ ฉันจะไปเปิดให้....”
กิจการพิพิธภัณฑสถานในสมัยนั้น ก้าวหน้าควบคู่ไปกับงานโบราณคดี ที่ได้พัฒนาขึ้นมากด้วย ทำให้การขุดค้นพบศิลปโบราณวัตถุในท้องถิ่นต่าง ๆ มากขึ้น กอร์ปกับเหล่าพสกนิกรในท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ มีความสนพระทัยในกิจการด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานเป็นที่ยิ่ง ก็ได้รับแนวพระราชดำริในเรื่องการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรม ด้วยวิธีการนำเข้าเก็บรักษาและจัดแสดงให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ในพิพิธภัณฑสถาน มาปฏิบัติตามด้วยการช่วยสอดส่องดูแลรักษาศิลปโบราณวัตถุในท้องถิ่นของตน หรือนำโบราณวัตถุที่พบมาบริจาคให้กรมศิลปากร จนภายหลังทำให้เกิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่าง ๆ อีกมากมายหลายแห่ง เช่น ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ ซึ่ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ จากคำบอกเล่าของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวไว้ว่า
“หลังจากเสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรบรรดาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงนานพอสมควร คาดว่าคงจะเป็นที่พอพระราชหฤทัย พอจะเสด็จ ฯ กลับตรัสว่า” “....นี่ถ้ากรมศิลปากร ไปสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ไหนนะ ฉันจะไปเปิดให้....”[4]
หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๖ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช พุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นต้น[5] ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทุกแห่งที่กล่าวมานี้ มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารทำการด้วยพระองค์เองทุกครั้ง นับว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงตระหนักถึงบทบาทของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในการที่จะมีส่วนในการพัฒนาสังคมและเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ จึงทรงสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันนี้ในท้องถิ่นต่าง ๆ ตลอดมา
พิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดี
นอกจากจะทรงสนพระทัยในโบราณสถานที่ปรากฏแก่สายตาอยู่บนผืนแผ่นดินทั่วแคว้นแดนไทยแล้ว ยังทรงมีความสนพระทัยในทรัพย์ในดิน และการศึกษาด้านโบราณคดี ที่ต้องมีการสำรวจขุดค้นเพื่อหาหลักฐานที่จะสามารถบอกเรื่องราวในอดีตให้ชัดแจ้งขึ้นได้ด้วย ทรงมีความรอบรู้ในศาสตร์ดังกล่าว และได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ที่ทำให้เหล่านักโบราณคดีและนักวิชาการของกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกียวข้องได้สามารถนำไปพัฒนาทักษะในการดำเนินงานต่อมา ดังในวโรกาสที่พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร แหล่งขุดค้นบ้านเชียง ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ และอาจารย์ พิสิฐ เจริญวงศ์ นักโบราณคดี ผู้อำนวยการร่วมฝ่ายไทย ในโครงการร่วมวิจัยกับพิพิธภัณฑสถานมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ณ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๗ ได้กล่าวถึงแนวพระราชดำริของพระองค์ไว้ในคำปรารภ ของหนังสือ เรื่อง “มรดกบ้านเชียง” มีความว่า
“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแหล่งขุดค้นด้วยความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงรับสั่งถาม และพระราชทานคำแนะนำ เรื่องต่าง ๆ ตลอดเวลา”
“เปลือกหอยเหล่านั้น รู้หรือไม่ ว่าเป็นหอยทะเลหรือหอยน้ำจืด”
“ที่ตั้งใจมาดู ก็อยากจะเห็นสิ่งต่าง ๆ อยู่ในสภาพเดิมอย่างนี้ ทำไมถึงพบหลุมฝังศพ และเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีมาก ที่นี่เป็นสถานที่ฝังศพหรือ”
“ลายเขียนสีแดงนั้นคงจะเขียนลงบนเครื่องปั้นดินเผา หลังจากที่ได้ทำการเผาหม้อแล้วใช่ไหม”
“เคยส่งกระดูกที่ค้นพบไปพิสูจน์ เรื่องการหาอายุบ้างหรือไม่.... กระดูกนี้เคยใช้ในการพิสูจน์หาอายุได้หรือไม่”
เรื่องการหาอายุนี้ ทรงรับสั่งถาม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร ซึ่งกราบบังคมทูลว่า “การหาอายุจากกระดูก ในต่างประเทศก็เคยกระทำกัน แต่ประเทศเรายังไม่เคยจัดส่งไป คิดว่าค่าส่งก็คงจะแพง ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสต่อไปว่า “ก็ไม่น่าจะสิ้นเปลืองเงินทองมากนัก เพราะเรื่องพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องสากลระหว่างชาติ อีกประการหนึ่งทั่วโลก ก็คงจะสนใจเรื่องบ้านเชียงนี้มาก ใคร ๆ ก็คงอยากจะรู้และให้ความร่วมมือในเรื่องการหาอายุ ถ้าหาอายุจากกระดูกได้ ก็จะเป็นการน่าเชื่อถือ มากขึ้นอีก”
ทรงทอดพระเนตรหลุมขุดค้นแต่ละหลุมอย่างละเอียดถี่ถ้วน
“หลุมฝังศพนี้คงจะมีอายุเก่ากว่าบริเวณหลุมขุดค้นที่ ๑ และที่ ๒ เพราะอยู่ระดับลึกกว่า” ทั้งทรงพระราชวินิจฉัยทางวิชาการอย่างจริงจัง
“คนก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในแหล่งขุดค้นนี้ มีความสัมพันธ์กับชุมชนที่เข้ามาอยู่อาศัยเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปี อย่างไร”
“สาเหตุที่ชุมชนต้องร้างไประยะใดระยะหนึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่น่าคิด นี่ก็ต้องเป็นเรื่องราวของหมอ (หมายถึงศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร) ที่จะต้องช่วยกันค้นคว้าว่าชุมชนที่ร้างไปนั้น ล้มตายด้วยโรคระบาดชนิดใดหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายดำเนินงานขุดค้น”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นและนิทรรศการต่าง ๆ รวมทั้งทรงเยี่ยมทักทายประชาชนที่มารับเสด็จมากมาย ระหว่างนั้นก็ได้ทรงกำชับให้เข้ากับชาวบ้านให้ดี ให้ใช้จิตวิทยาหาแนวทางเข้าถึงชาวบ้านช่วยเหลือชุมชน เมื่อได้ทรงทราบว่าข้าราชการได้ปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทอยู่แล้ว ก็ทรงตรัสต่อไป
“ที่ได้ทำมานั้นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ถ้าหากเจ้าหน้าที่เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างดีแล้ว ชาวบ้านก็จะให้ความร่วมมือและเข้าใจงานขุดค้น ซึ่งจะเป็นหนทางทำให้กลุ่มบุคคลภายนอกให้การสนับสนุนและความร่วมมืออย่างเช่นได้ข่าวมาว่า ท่านหญิงวิภาวดีประทานเงินส่วนพระองค์มาช่วยเหลือการขุดค้น”
จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรอบรู้ ในศาสตร์ดังกล่าวเป็นอย่างดี และมีความสนพระทัยใคร่ที่จะสืบหาประวัติความเป็นมาของคนในผืนแผ่นดินไทยให้ถ่องแท้ ทรงแนะหาแนวทางการขอความร่วมมือจากชุมชน การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อผลแห่งการดำเนินงานที่ก้าวหน้าต่อไป หลังจากนั้น จึงได้มี โครงการศึกษาวิจัยร่วมระหว่าง กรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในเรื่องโบราณคดีบ้านเชียง จนได้ผลวิจัยออกมาเผยแพร่ถึงความเก่าแก่ของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่นำชื่อเสียงมาให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา และโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทั้งหลายได้นำมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงในเวลาต่อมา[6]
วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์
นอกจากจะทรงสนพระทัยในด้านการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติเพื่อการศึกษาแล้ว ยังทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ในการใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการอนุรักษ์ศิลปโบราณวัตถุด้วย ซึ่งกว่าจะสามารถดำเนินลุล่วงตามที่ทรงตรัสแนะนำได้ ก็กินเวลานานถึง ๑๐ ปี
“....เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์เพื่อทอดพระเนตรบรรดาสิ่งของที่ขุดได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๐ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น หลังจากทอดพระเนตรเสร็จแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ บริเวณวังโบราณ ในวันนั้นมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จเต็มไปหมด ท่านประทับเสวยบนเสื่อจันทรบูรใต้ร่มมะขาม กรมหมื่นพิทยลาภ ฯ ท่านให้ผม (นายธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น) ไปเฝ้าใกล้ ๆ เผื่อท่านจะรับสั่งถาม ระหว่างเสวยก็ทอดพระเนตรไปรอบ ๆ รับสั่งว่า “เอ๊ะ ทำไมคนมากมาย”
กราบทูลว่า ชาวบ้านเขาพากันจะมาดูการทรงถอดพระแสงดาบที่ขุดได้จากวัดบูรณะ
รับสั่งว่า “สนิมจับอย่างนั้นใครจะถอดออก”
กราบทูลว่า ชาวบ้านพูดกันเช่นนั้นจึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ
รับสั่งว่า “นี่เขามีน้ำกัดสนิมนะ เอาน้ำมันนั่นมาหยอดซี”
กระแสพระราชดำรัสวันนั้น แสดงว่าพระองค์ทรงทราบเกี่ยวกับวิทยาการสงวนรักษาโบราณวัตถุเป็นอย่างดี จึงได้ทรงแนะนำวิธีการ และมิได้ทรงถอดพระแสงโดยมิได้ผ่านการศึกษาอย่างเป็นวิชาการเสียก่อน และด้วยกระแสพระราชดำรัสนี้ กรมศิลปากรจึงได้จัดส่งนักวิทยาศาสตร์ไปศึกษาวิชาการการสงวนรักษาโบราณวัตถุยังต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาการในการปฏิบัติงานด้านนี้ต่อไป.จนต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๐ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หลังจากพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรไปเรื่อย ๆ จนถึงห้องศิลปอยุธยาซึ่งตั้งโต๊ะทอดพระแสงดาบเล่มนั้นไว้ เมื่อทอดพระเนตรเห็น ทรงรับสั่งถามว่า
“นั้นพระแสงดาบเล่มนั้นใช่ไหม”
ใช่พระพุทธเจ้าข้า
“แล้วเป็นยังไง ถอดได้ไหม”
แล้วท่านก็เสด็จพระราชดำเนินตรงไปถอดพระแสงดาบ แสดงว่าทรงสนพระทัยอย่างจริงจัง และไม่เคยทรงลืม....
จากคำบอกเล่าของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดี กรมศิลปากร (๑๕ ตุลาคม ๒๔๙๙ – ๓๐ กันยายน ๒๕๑๑)[7]
แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบเกี่ยวกับวิทยาการการสงวนรักษาโบราณวัตถุเป็นอย่างดี และกรมศิลปากรได้น้อมรับด้วยเกล้าฯ รับกระแสพระราชดำรัสนั้นมา โดยส่งนักวิทยาศาสตร์ไปศึกษาวิชาการตรวจสอบวัตถุ และการสงวนรักษา ศิลปโบราณวัตถุที่ประเทศเบลเยี่ยม โดยทุนของยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลเบลเยี่ยม นี่คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ศิลปโบราณวัตถุโดยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการประยุกต์วิชาการทางวิทยาศาสตร์เข้ากับการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรม และดำเนินสืบต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้ ทำให้กิจการด้านการอนุรักษ์ด้วยวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑสถานพัฒนา ก้าวหน้าไปด้วยพระบารมี ดังกล่าว
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จะทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องของพิพิธภัณฑสถานเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังได้ทรงวางรากฐานให้พระราชโอรส พระราชธิดาทุกพระองค์ทรงใช้พิพิธภัณฑสถาน เป็นส่วนช่วยในการศึกษาด้วย นอกจากนี้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ยังมีความสนพระทัยในกิจการด้านศิลปวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑสถานเสมอตลอดมา ในวาระต่าง ๆ เมื่อมีพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ มักทรงมีพระราชกระแสให้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะทรงพิจารณาเห็นว่า พิพิธภัณฑสถานนั้นเปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของชาตินั่นเอง สมควรให้แขกเมืองได้รู้เรื่องราวของคนไทยเมื่อมาเมืองไทย
แม้เมื่อพระราชภารกิจในภายหลังมีมากขึ้น ไม่สามารถจะเสด็จพระราชดำเนินได้ด้วยพระองค์เอง ก็ยังได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติใหม่ ๆ ทุกครั้ง บางครั้งเมื่อพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ปรับแนวทางการจัดแสดง เพื่อเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประเภทอื่นขึ้น เช่น หอศิลปแห่งชาติ ยังได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ออกแสดงด้วย เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาเรื่องราวของศิลปะร่วมสมัยได้จากภาพจริง นับว่าทรงสนับสนุนงานพิพิธภัณฑสถานให้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
พิพิธภัณฑสถานเพื่อการศึกษา
พัฒนาการของมนุษย์ในโลกได้ก้าวหน้าไป ศาสตร์ในสาขาศิลปะและวิทยาศาสตร์ ได้แตกแขนงแยกย่อยออกไป เป็นศาสตร์เฉพาะเรื่องนานาสาขา ทำให้เกิดนักวิชาการเฉพาะสาขามากทั้งที่เป็นวิชาการและวิชาชีพ แต่ละศาสตร์ได้สร้างสรรค์บุคลากรในสายความรู้นั้น ๆ ขึ้นมามากมาย นักวิชาการในสาขาวิชาเหล่านั้น มักจะมีผลการศึกษาค้นคว้าวิจัย ตัวอย่างการค้นคว้าและสรรพสิ่งที่ล้วนเป็นต้นแบบการค้นคว้า ที่ต่างได้สะสมไว้ในที่สุด เกิดการสะสมตัวอย่างวัตถุขึ้น จากตัวอย่างเหล่านี้สามารถนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง นักเรียน นักศึกษา ในการศึกษา ในการเรียนรู้ได้ต่อไป ในที่สุดจึงเกิดพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑสถานเฉพาะเรื่องขึ้น พิพิธภัณฑสถานเฉพาะเรื่องนี้ ได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมากในรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นพิพิธภัณฑสถานในหน่วยราชการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา เป็นพิพิธภัณฑสถานท้องถิ่น แต่ละพิพิธภัณฑสถานจะได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชดำริที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรม และพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการพัฒนาสภาพชีวิตของปวงชนชาวไทย และที่ขาดมิได้คือพระราชปณิธานในการพัฒนาศึกษาให้กับคนโดยทั้งปวง พิพิธภัณฑสถานที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ จึงเพิ่มบทบาทในฐานะสถาบันเพื่อการศึกษานอกรูปแบบให้แก่สังคม ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการพัฒนาของพิพิธภัณฑสถานในสากลโลกด้วยเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัวทรงสนพระทัยในศาสตร์ทุก ๆ ด้าน กิจการในทุกสาขาพิพิธภัณฑสถาน มักจะได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานศิลปะ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา และศิลปะร่วมสมัยแล้ว ยังทรงสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นในสาขาพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ท้องฟ้าจำลอง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อนุสรณ์สถาน และพิพิธภัณฑสถานตามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานเฉพาะเรื่อง รวมทั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ ที่ต้องเผยแพร่ความเข้าใจให้กับประชาชน ก็ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดเป็นศูนย์ข้อมูล พิพิธภัณฑสถานขึ้น ณ พื้นที่เหล่านี้ด้วย เช่นพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว โครงการสวนหลวง ร.๙ โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โครงการปากพนัง โครงการป่าสัก อุทยานแห่งชาติต่างๆ รวมทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ทุกแห่งด้วย เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์เพื่อการประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของชาติ
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถยังได้ทรงสืบทอดแนวพระราชดำรินี้ไปสู่การพัฒนาจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ และพิพิธภัณฑ์พระที่นั่งอภิเษกดุสิต ขึ้นในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อเป็นสถานที่หนึ่งที่นำพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศได้เข้าชม และเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาแก่ประชาชนคนไทยด้วยแล้ว ยังเพื่อสนับสนุนงานด้านศิลปหัตถกรรมของศูนย์ศิลปาชีพอีกด้วย นอกจากจะทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นในประเทศแล้ว ยังทรงนำนิทรรศการศิลปโบราณวัตถุไทยไปจัดแสดง ณ ต่างประเทศ เพื่อการเผยแพร่ ชื่อเสียงของประเทศไทย เพื่อผลทางเศรษฐกิจและแสดงอารยธรรม ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำศิลปโบราณวัตถุไปจัดแสดง ณ ต่างประเทศหลายครั้งนับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมาครั้งหนึ่งเมื่อไปร่วมจัดแสดงที่ ประเทศเบลเยี่ยม ได้ทรงนำเสด็จฯ พระราชาธิบดีโบดวง และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ฟาบิโอลา ชมนิทรรศการด้วยพระองค์เอง และในคราวที่พระราชทานศิลปโบราณวัตถุ ไปจัดแสดงที่เมืองโคโลญจน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ประธานาธิบดี ลืบเก้ได้มีราชสาส์น มาขอบพระทัยในความร่วมมือ ดังนี้
(คำแปล)
ประธานาธิบดี แห่ง
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน กรุงบอนน์
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๖
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกปิติยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นผู้อุปถัมภ์แก่การแสดง "ศิลปวัตถุจากประเทศไทย"การแสดงนี้ได้เปิดขึ้นที่เมืองโคโลญ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ศกนี้ เป็นการแสดงที่คัดเลือกศิลปวัตถุที่งดงามที่สุดมาจากประเทศใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นอย่างดีและเป็นความสำเร็จอันใหญ่หลวงซึ่งความสำเร็จนี้ก็ได้เป็นที่ยืนยันมาจากทุกด้านทุกทาง ข้าพระพุทธเจ้าแน่ใจว่าการแสดงศิลปไทยครั้งนี้จะมีผู้นิยมชมชอบเป็นอย่างมากจากเมืองอื่น ๆ ในประเทศเยอรมนี อีก
ข้าพระพุทธเจ้าและประชาชนชาวเยอรมันทั้งปวงใคร่ที่จะแสดงความขอบพระราชหฤทัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ไทยทั้งปวงที่มีส่วนร่วมในการจัดแสดงศิลปวัตถุไทยในครั้งนี้
ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งคำแปลภาษาอังกฤษของสุนทรพจน์ของข้าพระพุทธเจ้าที่กล่าวเมื่อวันเปิดงานมาถวายด้วย ในสุนทรพจน์นั้นข้าพระพุทธเจ้าได้พยายามแสดงว่าเราได้เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับประชาชนชาวไทยเพียงใด และเรานิยมชมชอบวัฒนธรรมไทยแค่ไหน ในการตระเตรียมสุนทรพจน์ครั้งนี้ข้าพระพุทธเจ้ายังระลึกด้วยความปลาบปลื้มอยู่เสมอถึงการมาเยี่ยมเยียนที่เป็นสุขอย่างยิ่งของข้าพระพุทธเจ้าแก่ประเทศอันสวยงามของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ภรรยาข้าพระพุทธเจ้าและข้าพระพุทธเจ้าขอถวายความระลึกถึงฉันมิตรมายังใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
(ลงนาม) ลืบเก้[8]
แม้แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งนี้ จะได้เริ่มดำเนินการมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ หากแต่ในปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัตน์ยิ่งทำให้การดำเนินพระราชกรณียกิจนี้ มีความจำเป็นอย่างมาก
วันเวลาผ่านไป กิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ก็ยิ่งพัฒนาขึ้นไปเป็นลำดับ ตามครรลองของการพัฒนาในสังคมโลก ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ยืนยงคงอยู่กับความมั่นคงของชาติไทยยังคงเป็นศิลปวัฒนธรมของชาตินั่นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริพระราชทานศิลปโบราณวัตถุส่วนพระองค์ พระราชทานกำลังพระทัย ทรงเป็นผู้นำให้เหล่าพสกนิกร ทุกคนยึดมั่น ในการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติไว้ เพื่อความอยู่รอดของประเทศในกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า นับวันพิพิธภัณฑสถานจะยิ่งยังประโยชน์ให้กับชาติและชนในชาติได้สมกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้เป็นสถาบันเพื่อสังคมชัดเจนยิ่งขึ้น ๆ และตราบจนทุกวันนี้กิจการพิพิธภัณฑสถานได้เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นแล้วว่า พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถและมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงนำประเทศให้ก้าวหน้าพัฒนาไปได้ในทุกสภาวการณ์
--------------------------------------------------------------------------------------
[1]ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล. “พระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางด้านโบราณคดี”. จันทรเกษม ฉบับที่ ๑๐๐ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๑๔), หน้า ๕๖
[2]กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ.หนังสืออ่านเพิ่มเติมกลุ่มสังคมศึกษา:พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชกับการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๓๒, หน้า ๕๒๗.
[3]“การเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” ศิลปากร. ปีที่ ๖ เล่ม ๑ ,พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๖๒-๖๓.
[4]กรมศิลปากร. พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ. กรุงเทพฯ:บริษัทโมเดอร์น เพลส จำกัด, พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑๓
[5]จิรา จงกล.พัฒนาการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย. พิพิธภัณฑสถานวิทยา.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนางจิรา จงกล ณ เมรุวัดเทพศิริรนทราวาส ๒๕๓๒. กรุงเทพฯ :อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด, พ.ศ. ๒๕๓๒, หน้า ๓๙-๔๑
[6]พิสิฐ เจริญวงศ์. มรดกบ้านเชียง. กรมศิลปากรจัดพิมพ์. กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด, พ.ศ. ๒๕๓๐, หน้า ๘-๑๐.
[7]กุลพันธาดา จันทร์โพธิ์ศรี. วิทยาศาสตร์กับการอนุรักษ์มรดกไทย. กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพและวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธสักราช ๒๕๓๑. กรุงเทพฯ :อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด, พ.ศ. ๒๕๓๑, หน้า ๒๐-๒๑.
[8]“สุนทรพจน์ ฯพณฯประธานาธิบดีแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมัน”,ศิลปากร. ปีที่ ๗ เล่ม ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 4105 ครั้ง)