...

เขาโคคุดจำหลักรูปพระพุทธรูป

         เขาโคคุดจำหลักรูปพระพุทธรูป

         สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

         สมบัติเดิมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         เขาโคคุดจำหลักรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยไว้สามด้าน ฐานเขากลม เขามีส่วนโค้งเว้า ปลายคดงอ พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะ พระรัศมีทรงกรวยขนาดใหญ่ อุษณีษะนูน พระเศียรเรียบ พระเนตรปิด พระนาสิกโด่ง พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ประทับขัดสมาธิราบ ไม่ปรากฏประวัติที่มาของเขาโค แต่จากบัญชีโบราณวัตถุ “บาญชีสิ่งของพิพิธภัณฑ์ในศก ๑๑๖” (พ.ศ. ๒๔๔๐) ระบุไว้ว่า “[รายการที่] ๑๒๔ เฃางัวแกะเป็นพระติดกัน ๓ องค์ [จำนวน] ๑ องค์”

         ความเชื่อเกี่ยวกับ “เขาโค” ในสังคมไทย มีตัวอย่างปรากฏใน “ตำราโค” ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงลักษณะโคมงคล ๘ ชนิด รวมทั้งลักษณะเขาโคที่มี สี การให้คุณให้โทษ และราคาต่างกันออกไป อาทิ เขาสีดำนิลถือเป็นของมงคล กันอุบาทว์ทั้งปวง (บางฉบับกล่าวว่าแก้ปวดเมื่อยได้) ราคาทอง ๙ ตำลึง, เขาสีเหลือง มีคุณบันดาลให้เกิดสวัสดิ์มงคล อยู่เรือนผู้ใดผู้นั้นจะเป็นเศรษฐี ราคาทอง ๘-๑๐ ตำลึง, เขาสีขาวดั่งงาช้าง มีอานุภาพป้องกันไฟ ราคาทอง ๑ บาท ฯลฯ ดังนั้นเขาโคจึงเป็นสิ่งมงคลตามความเชื่อในสังคมไทย ผู้ที่ศึกษาตามตำราเกี่ยวกับลักษณะโค ย่อมรู้ว่าเขาโคลักษณะใดเป็นเขาที่ดี* ดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรื่องตามเสด็จไทรโยค ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “เรื่องเขาโคเปนของผู้รู้วิธี  ชั่วแลดีเลือกทำตามตำรา” 

         สำหรับเขาโคคุด เป็นสิ่งที่ถือกันว่าไม่ปรกติ (คำว่าคุด หมายถึง งอกงออยู่ภายในไม่โผล่ออกมาตามปรกติ) และเป็นของที่ถือกันว่า “ทนสิทธิ์” คือมีอานุภาพเกิดขึ้นเองสถิตอยู่ในวัตถุนั้น ๆ จัดเป็นเครื่องรางประเภทหนึ่ง อาทิ เขี้ยวสัตว์ เขาสัตว์ นอ งา  คด แร่ หินธรรมชาติต่าง ๆ ฯลฯ วัตถุเหล่านี้มักจะนำมาลงอักขระหรือแกะเป็นรูปมงคลต่าง ๆ รวมถึงพระพุทธรูป นอกจากนี้เขาโคยังเป็นสิ่งมงคลที่ใช้ตกแต่งในพิธี มีตัวอย่างปรากฏในบันทึกเกี่ยวกับแบบแผน “พระราชพิธีฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล”** กล่าวถึงการจัดสถานที่ภายในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย สำหรับพิธีเทศมหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งจัดขึ้นในเดือน ๑๑ (ราวเดือนตุลาคม) กล่าวว่าบริเวณระหว่างเสาร่วมในฝั่งทิศใต้ถัดจากที่ประทับตั้งโต๊ะกลมวางเครื่องนอระมาดเขาโคเขาต่าง ๆ หลังโต๊ะผูกงาพลายปราบดัษกรสวมปลอกทองคำ 

         มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับตำราลักษณะวัวไว้บ้างแล้ว อาทิ จตุพร บุญประเสริฐ. การวิเคราะห์ตำราวัว. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาภาษาไทย). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.  ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเนื้อหาในตำราลักษณะวัวที่เก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติ และเอกสารที่พบในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งสิ้น ๒๐ ฉบับ 

**ตำราฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นไว้ เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นผู้บัญชาการพระราชพิธีของวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๔

 

 

อ้างอิง

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. กลอนไดเอรีซึมทราบกับตามเสด็จไทรโยค. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๐. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า โปรดให้พิมพ์ประทานช่วยพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง ในงานทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี บริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐.

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ๒๖ ภาค เล่ม ๑ ภาคที่ ๑-๑๓. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ, ๒๕๕๘.

พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ. “ตำราโค : ศาสตร์แผนโบราณของไทย” ศิลปากร ๔๑, ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน๒๕๔๑), ๗๓-๙๒.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ น.๔๙.๒/๑. เอกสารกระทรวงนครบาล รัชกาลที่ ๕. เรื่อง บัญชีสิ่งของพิพิธภัณฑ์ (๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๐).

(จำนวนผู้เข้าชม 415 ครั้ง)


Messenger