คนโทรูปพระคเณศ
คนโทรูปพระคเณศ
พุทธศตวรรษที่ ๑๘
นายโยธิน-นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ มอบให้เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
คนโทดินเผาเคลือบเขียว ปากกลม ฐานกลม ตัวภาชนะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนล่างเว้ายืดสูง ส่วนบนของภาชนะเป็นรูปพระคเณศ ๒ กร ประทับขัดสมาธิราบบนฐานบัวคว่ำ พระเศียรตกแต่งเป็นลายเส้นตารางซ้อนกันสามชั้น (สันนิษฐานว่าเลียนแบบกรัณฑมงกุฎ) พระเนตรเปิดมองตรง งวงยาวถึงพระนาภี พระกรรณใหญ่ พระหัตถ์ขวาทรงถือทันต์ หรืองาที่หัก พระอุระแสดงการทรงสังวาลไขว้กันเป็นกากบาท ทรงพระภูษาสั้น ลักษณะผ้าเป็นริ้วคล้ายผ้าพลีต รัดองค์ประดับแถบลายสามเหลี่ยม
งาในพระหัตถ์ของพระคเณศนั้น ปุราณะหลายคัมภีร์เล่าต่างกัน อาทิ เกิดจากพระคเณศต่อสู้กับพระศิวะจนถูกขวานพระศิวะตัดงาไปข้างหนึ่ง หรือบางปุราณะกล่าวว่าเศียรช้างที่มาต่อกลับให้กับพระคเณศนั้นมีงาข้างเดียว หรือในอินเดียใต้อธิบายว่าคราวที่พระคเณศต่อสู้กับคชมุขาสูร พระคเณศเสียทีถูกหักงา แต่แย่งงาข้างที่หักได้และใช้เป็นอาวุธขว้างใส่คชมุขาสูร นอกจากนี้บางปุราณะยังกล่าวว่าเมื่อครั้งที่พระคเณศต่อสู้กับปรศุราม (อวตารของพระนารายณ์) ปรศุรามใช้ขวานวิเศษซึ่งได้รับมาจากพระศิวะขว้างใส่พระคเณศ เมื่อพระคเณศเห็นจึงจำได้ว่าเป็นขวานของบิดา จึงไม่ต่อสู้กลับแต่ใช้งาข้างหนึ่งรับขวานไว้ ทำให้งานั้นหักไปเหลืองาข้างเดียว นับแต่นั้นงาข้างที่หักจึงใช้เป็นอาวุธ*ของพระองค์รวมถึงใช้จารหนังสือในฐานะที่เป็นเทพแห่งอักษรศาสตร์ อีกทั้งพระคเณศที่ปรากฏงาข้างเดียวยังมีนามว่า “เอกทันตะ”
รูปเคารพพระคเณศนั้นปรากฏหลักฐานนับตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ แล้ว สำหรับประเทศไทย พบประติมากรรมพระคเณศที่พบในช่วงเวลานี้ มีทั้งแบบสองกร และสี่กร อาทิ พระคเณศศิลาประทับมหาราชลีลาสนะ ประดิษฐานในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร พระคเณศสองกรทรงยืนพบที่เมืองโบราณศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี พระคเณศศิลาประทับมหาราชลีลาสนะเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา และพระคเณศศิลาพบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา เมื่อวัฒนธรรมเขมรโบราณแพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย จึงพบประติมากรรมพระคเณศหลากหลายรูปแบบทั้งประติมากรรมศิลา ประติมากรรมสำริด ประติมากรรมดินเผาเคลือบสีดำ และประติมากรรมนูนสูง เช่นรูปสลักบนทับหลังปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และทับหลังปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
*กรณีการใช้งาของพระองค์เป็นอาวุธ มีตัวอย่างในปกรณัมของ “พระจันทร์” ความว่าครั้งหนึ่งพระคเณศเสด็จกลับจากงานเลี้ยง ปรากฏว่าพระองค์เผลอตกจากหลังมูสิกะ (หนูพาหนะของพระองค์) จนพระอุทร (ท้อง) แตก พระองค์จึงทรงโกยขนมคืนพระอุทร ขณะนั้น “พระจันทร์” ผ่านมาเห็นจึงหัวเราะเยาะ พระคเณศพิโรธจึงขว้างงาของพระองค์ปักพระจันทร์ทำให้โลกมืดมิด ต่อมาเทวดาร้องขอให้พระองค์อภัยพระจันทร์ จึงทรงยอมแต่พระจันทร์ยังต้องรับโทษอยู่ให้มีรูปทรงเว้าแหว่งทุกครึ่งเดือน
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระคเณศ เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๕.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 289 ครั้ง)