...

กรรไกรไทยคร่ำทอง

          กรรไกรไทยคร่ำทอง

          พุทธศตวรรษที่ ๒๕

          นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี มอบให้เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๕

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          กรรไกรไทย เครื่องมือสำหรับตัดโดยการหนีบทำด้วยเหล็ก มีใบมีด ๒ ใบ แต่ละใบมีขาทำหน้าที่เป็นก้านแหนบและด้ามจับ ใบมีดกรรไกรจึงถ่างกว้าง  เวลาใช้งานต้องใช้มือหนีบขากรรไกรให้คมมีดทั้งสองใบสบกัน  ส้นกรรไกรกลึงเป็นยอดเม็ด  ตกแต่งด้วยลายคร่ำทอง โดยใช้เส้นโลหะทองฝังเป็นลวดลายลงไปในเนื้อเหล็ก  วิธีทำคร่ำอย่างไทยจะใช้เครื่องมือปลายแหลมคล้ายสิ่วตอกสักลงบนผิวเหล็กตัดกันไปมาให้เกิดความขรุขระ  จากนั้นจึงใช้เส้นทองหรือเส้นเงินตอกย้ำลงไปให้ติดแน่นเป็นลวดลาย  แล้วจึงกวดผิวให้เรียบ

          กรรไกรลักษณะนี้คนไทยใช้ตัดผม หรือประกอบพิธีต่าง ๆ อาทิ โกนจุก ปลงผมนาค ตามธรรมเนียมโบราณ จากบทความเรื่อง “วิชาช่างตัดผม” ซึ่งลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ล, บ. [นามแฝง] ได้อธิบายทั้งวิธีการตัดผมแบบโบราณและวิธีที่ใช้สมัยนั้นว่า การตัดผมแบบโบราณ ช่างตัดผมจะใช้กรรไกรไทย โดยวิธีตัดผมมหาดไทย ทรงผมของผู้ชายนั้น เมื่อโกนด้านข้างหมดแล้วจึงใช้กรรไกรตัดผมบนศีรษะ สำหรับการตัดผมรองทรง ซึ่งในสมัยโบราณตัดได้เฉพาะผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูง ทรงผมก็คล้ายกับผมมหาดไทย แต่ไม่ใช้การโกนใช้การตัดด้วยกรรไกรแทน  โดยตัดไล่ผมด้านข้างให้ยาวขึ้นไปเป็นลำดับจนรับกับทรงผมด้านบน ในส่วนการตัดผมปีกของสตรี ก็ใช้กรรไกรไทยตัดเช่นกัน และในสมัยนั้น (พ.ศ.๒๔๓๔) มีร้านตัดผมผู้ชายเปิดตามถนนสายต่างๆ และใช้กรรไกรฝรั่งแล้ว แต่การตัดผมผู้หญิงยังไม่มีการตั้งร้านเป็นหลักแหล่ง  ช่างตัดผมผู้หญิงยังคงใช้กระเดียดกระทายเครื่องมือเที่ยวรับจ้างอยู่เหมือนช่างสมัยโบราณ 

          จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้อธิบายถึงคตินิยมในการตัดผมของคนไทยว่า นิยมตัดผมในวันเสาร์ ซึ่งถือว่าเป็นมงคล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ยังทรงยึดมั่นในคตินิยมของคนไทยโดยการทรงพระเครื่องใหญ่ (การจำเริญเส้นพระเจ้า [การตัดเส้นผม] สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน) โปรดให้จัดขึ้นในวันเสาร์ และได้อธิบายต่อไปว่า

          “...คนไทยเรานิยมกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายของเราว่า การตัดผมในวันเสาร์ห้านั้น เป็นมหามงคลอันประเสริฐยิ่ง คำว่าเสาร์ห้าในที่นี้ วันนั้นจะต้องเป็นวันเสาร์ และจะต้องตรงกับเดือนที่นับทางจันทรคติเป็นเดือนห้า จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตามที เพราะฉะนั้น เราจะได้ยินชาวบ้านร้านตลาดที่วันใดเป็นวันที่เผอิญมาตรงเข้ากับวันเสาร์ห้าเช่นนี้ คนไทยโดยมากจะรีบพากันไปตัดผม ถึงแม้ผมจะสั้นอยู่แล้วก็ยังพากันไปตัดอยู่ดี เพราะถือว่าเมื่อได้ตัดผมในวันนั้นแล้วย่อมได้รับความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเขาเอง ประเพณีเช่นนี้นับว่าเป็นประโยชน์ในทางจิตใจอย่างหนึ่ง...”

          วันเสาร์ ขึ้น/แรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ หรือที่เรียกว่า วันเสาร์ห้า เป็นวันที่โบราณจารย์ถือว่ามีพลังแรงมากเป็นพิเศษ วันมงคลนี้มิได้เกิดขึ้นทุกปี สำหรับผู้ที่เชื่อถือพิธีกรรมต่างๆ จึงใช้วันเสาร์ห้า ประกอบพิธีปลุกเสก เครื่องรางของขลัง  หรือกิจการอื่นๆ ทุกอย่าง แม้แต่ การสระผม การตัดผม ก็มักจะกระทำในวันนี้

          สำหรับวันเสาร์ที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗ นอกจากเป็นวันมหาสงกรานต์แล้ว ยัง ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ อีกด้วย #วันมหาสงกรานต์ #วันเสาร์ห้า

 

อ้างอิง

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม  สุนทรเวช). พระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑๐ เรื่อง พระราชประเพณี ตอน ๒. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๑๔.

ล, บ. [นามแฝง]. “วิชาช่างตัดผม” วชิรญาณวิเศษ. เล่ม ๖ รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐

 

(จำนวนผู้เข้าชม 280 ครั้ง)


Messenger