รางวางธูปประดับมุก
รางวางธูปประดับมุก
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานยืม
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นล่าง) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รางวางธูปประดับมุกรูปมังกร ส่วนหัวมังกรเชิดหน้าขึ้น มองขึ้นด้านบน ตาเบิกโพลง จมูกสั้น อ้าปาก ลำตัวตรง กลางลำตัวเป็นช่องสี่เหลี่ยมทาชาด รองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมแกะเป็นรูปขาและอุ้งเท้ามังกร ส่วนปลายเป็นหางมังกร
รางวางธูปรูปมังกรชิ้นนี้ สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจเป็นส่วนประกอบหนึ่งหรือสร้างตามแรงบันดาลใจมาจาก “นาฬิกาธูป” (Incense Clock) ในวัฒนธรรมจีนถือเป็นเครื่องบอกเวลาชนิดหนึ่ง กล่าวคือ ธูปจะวางไว้ตามแนวรางรูปจากนั้นจึงแขวนลูกตุ้มเอาไว้ และด้านล่างมีถาดเหล็กรองรับอยู่ เมื่อใช้งานจึงจุดธูปให้เผาไหม้ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่แขวนลูกถ่วง ลูกถ่วงจะตกลงไปในถาดเหล็กเกิดเป็นเสียงกระทบดังขึ้น เชื่อกันว่าแต่เดิมนาฬิกาธูปนี้เป็นเสมือนนาฬิกาตั้งปลุก และเปรียบส่วนรางธูปว่า “เรือมังกร” (dragon boat)
นอกจากนี้ประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔) พบว่าในกลุ่มชาวจีนกวางตุ้งยังใช้นาฬิกาธูปสำหรับเป็นที่จุดยาสูบ ภายหลังจากทานอาหารเย็นอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับในทะเบียนบัญชีโบราณวัตถุระบุว่าชิ้นนี้คือ “รางวางธูปสำหรับที่จุดบุหรี่ของสมเด็จเจ้าพระยา”
มังกร หรือ หลง* (ในภาษาจีนกลาง และ เล้ง ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) เป็นสัตว์มงคล มีฤทธิ์มาก (บางตำรากล่าวว่าเป็นสัตว์อมตะ หรือมีอายุยืนนับพันปี) อีกทั้งเป็นสัตว์วิเศษ ๑ ใน ๔ (ประกอบด้วย มังกร กิเลน หงส์ และเต่า) สามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายและภูตผีปีศาจได้ ลักษณะของมังกรสื่อถึงการเป็นสัตว์ผสม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความเห็นว่ามังกรนั้นเอาไปแบบอย่างมาจากจระเข้ ดังลายพระหัตถ์ ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๓ ความว่า
“...ทางจีนที่เขาทำมังกรหน้าตะเข้นั้นตัวสั้นๆ ก็เคยเห็นรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้ากรุงจีนมีแต่เป็นของเก่า แม้มังกรของเราที่เก่า เช่นพระราชลัญจกรซึ่งพระราชทานแก่โบราณคดีสมาคมเป็นต้น หน้าก็ยาวตัวก็สั้นทำให้ท้าวสะเอวเสียด้วย เป็นพวกตะเข้มากกว่าพวกงู แต่ทีหลังก็ทำเลื่อนไปเป็นพวกงูจึงหลงว่าเป็นนาค ความหลงนั้นไม่ใช่มาหลงในเมืองเรา หลงมาแต่ทางจีนแล้ว ทำเป็นงูพันเทียนพันเสาอะไรเล่นตามชอบใจ ซ้ำแก้หน้าเป็นสิงโตกลายๆ เสียด้วย เพราะเหตุดังนั้นที่เขาเขาเขียนดรากอนเป็นตะเข้จึงได้ชอบใจนัก ด้วยมีความเห็นว่า เดิมเขาจะนึกผูกมาจากตะเข้ ลางคนก็ว่าเหรา เหราจะเป็นตัวอะไรก็ไม่ทราบ ภาษาอะไรก็ไม่ทราบได้พบชื่อนั้นอยู่บ่อยๆ คำเทียบแม่ ก กา ในมูลบท**ก็มีว่า “จระเข้เหราคร่าไป” จะเป็นกลอนพาไปก็ได้ หรือจะเป็นคำซ้ำ เช่น “เพิ่มเติม” “ถูกต้อง” ก็ได้ กิ้งก่ายักษ์ซึ่งเขาจับเอามาไว้ในสวนเลี้ยงสัตว์ที่ชวา ฝรั่งเขาว่าเทือกเถาเหล่ากอมังกร จะอย่างไรก็ดี มังกรนั้นคิดมาจากสัตว์พวกตะเข้ ไม่ใช่งูเป็นแน่…”
ในปัจจุบันเชื่อกันว่ามังกรประกอบด้วย ๙ ลักษณะ ได้แก่ เขาเหมือนกวาง หัวเหมือนอูฐ ตาเหมือนปีศาจ คอเหมือนงู ท้องเหมือนหอยแครง เกล็ดเหมือนปลา เล็บเหมือนนกอินทรี ฝ่าเท้าเหมือนเสือ และหูเหมือนวัว สำหรับมังกรตัวผู้จะมีเคราและหนวด ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้มังกรต่างจากพญานาคของไทยคือ มีเขา และมีเท้า ซึ่งพญานาคไม่ปรากฏ*** ทั้งนี้มังกรแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันออกไป บางชนิดมีปีก และมีจำนวนเล็บไม่เท่ากัน ในวัฒนธรรมจีนเชื่อว่ามังกรอาศัยอยู่ในท้องทะเลครอบครองมุกและพลอย นับถือว่ามังกรที่มีกรงเล็บห้าเล็บเป็นหัวหน้ามังกรทั้งปวง
*ในคำอธิบายของพรพรรณ จันทโรนานนท์ ยังแบ่งจำแนกชื่อมังกรตามคุณลักษณะต่าง ๆ อาทิ ว่ามังกรไม่เขาเรียกว่า “ชีหลง” หากมีเขาเรียกว่า “ฉิวหลง” มังกรที่ได้ขึ้นสวรรค์เรียกว่า “ผันหลง” มังกรที่ชอบเล่นน้ำเรียกว่า “ชิงหลง” มังกรที่พ่นไฟได้เรียกว่า “หัวหลง” ดูใน พรพรรณ จันทโรนานนท์. ฮก ลก ซิ่ว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๗. หน้า ๒๘.
**หมายถึง มูลบทบรรพกิจ เรียบเรียงขึ้นโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ (สมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)เป็นหนังสือแบบเรียนภาษาไทย
***พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบายถึงลักษณะของมังกรต่างออกไปว่า “ศีรษะคล้ายอูฐ เขาคล้ายกวาง ตาคล้ายกระต่าย หูคล้ายวัว คอคล้ายงู ท้องคล้ายเหี้ย เกล็ดคล้ายปลาหลี่ฮื้อ เล็บค้ายนกอินทรี อุ้งเล็บคล้ายเสือ เกล็ดมีจำนวน ๘๑ เกล็ด เสียงคล้ายเสียงฆ้อง สองข้างปากมีหนวดเครา ใต้คางมีมุกดา ใต้คอมีเกล็ดย้อน หายใจเป้นเมฆ บางทีก็แปรเป็นฝนหรือเป็นไฟ”
อ้างอิง
กรมศิลปากร. สมุดภาพสัตว์หิมพานต์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๑.
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๙. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๕.
พรพรรณ จันทโรนานนท์. ฮก ลก ซิ่ว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๗.
สมบัติ พลายน้อย. สัตว์หิมพานต์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, ๒๕๕๒.
Bedini, Silvio A. "The Scent of Time. A Study of the Use of Fire and Incense for Time Measurement in Oriental Countries". Transactions of the American Philosophical Society. Philadelphia, Pennsylvania: American Philosophical Society. ๕๓, ๕ (๑๙๖๓), ๒๕–๒๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 311 ครั้ง)