ประติมากรรมพระสาวก (พระสารีบุตร)
ประติมากรรมพระสาวก (พระสารีบุตร)
ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒
พระยากัลยาณวัฒนวิศิษฎ (เชียร กัลยาณมิตร) มอบให้
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประติมากรรมรูปพระสาวก ศีรษะเรียบ เส้นผมขมวดเป็นเม็ดเล็ก ใบหน้ารี คิ้วเป็นสัน โก่งขึ้น ดวงตาเหลือบต่ำ จมูกใหญ่ แย้มมุมปาก คางเป็นปม ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ ยาวจรดสะดือ ส่วนปลายตัดตรง นั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานหน้ากระดานเรียบ มีจารึกอักษรธรรมล้านนาว่า “สาริบุต”
พระสารีบุตรเถระเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นธรรมเสนาบดีและเอตทัคคะผู้เป็นเลิศด้านปัญญา ประวัติของพระสาวกรูปนี้ ปรากฏในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน กล่าวไว้สรุปความได้ดังนี้
พระสารีบุตร เป็นบุตรของนางสารี ณ หมู่บ้าน อุปดิสคาม ใกล้กรุงราชคฤห์ จึงได้ชื่อว่า อุปดิศ และเมื่อเติบโตขึ้นเป็นเพื่อนกับ โกลิต* ต่างคนต่างมีบริวารติดตาม ๕๐๐ คน เวลาต่อมาทั้งสองประสงค์ที่จะแสวงหาความหลุดพ้น (โมกขธรรม) จึงพากันไปบวชที่สำนักพราหมณ์สัญชัยพร้อมด้วยบริวารคนละกึ่งหนึ่ง เมื่อเรียนกับอาจารย์สัญชัยไปก็ไม่พบหนทางแห่งการหลุดพ้น ทั้งสองจึงพากันเดินทางไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ ระหว่างนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ พร้อมด้วยพระสาวก พระองค์ประทับ ณ ป่าเวฬุ วันหนึ่งเวลาเช้า พระอัสสชิ**เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง อุปดิศปริพาชกได้พบเห็นก็เกิดความเลื่อมใส จึงติดตามไปกระทั่ง พระอัสสชิ ฉันอาหารแล้วเสร็จ แล้วจึงถามถึงรายละเอียดพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน พระอัสสชิ “...คิดว่า เราจักแสดงความที่พระศาสนานี้เป็นของลึกซึ้ง จึงประกาศว่าตนยังเป็นผู้ใหม่ และเมื่อจะแสดงธรรมในพระศาสนาแก่ปริพาชกนั้นโดยสังเขป จึงกล่าวคาถาว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เป็นต้น…”
คาถานี้แปลความว่า “ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้า ทรงสั่งสอนอย่างดังนี้”
เมื่ออุปดิศปริพาชกได้สดับพระธรรมโดยย่อดังกล่าวบังเกิดศรัทธา และได้ไปชักชวนโกลิตปริพาชกผู้เป็นสหายพร้อมด้วยบริวารในสำนักของตนอีก ๒๕๐ คนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าเวฬุเพื่อฟังธรรมและบวชเป็นพระภิกษุ สำหรับอุปดิศปริพาชก เมื่อบวชแล้วมีนามว่า “สารีบุตร” ทั้งนี้ใน“ปฐมสมโพธิ์กถา” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในอรรคสาวกบรรพชาปริวัตต์ปริจเฉทที่ ๑๖ ระบุว่าพระสารีบุตร บรรลุเป็นพระอรหันต์ใน “วันมาฆบูชา”
นอกจากนี้ คัมภีร์สุมังคลวิลาสีนี อรรถกถาทีฆนิกาย ส่วนมหาปทานสูตร ยังกล่าวอีกว่า เมื่อพระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา ท่ามกลางภูเขาคิชฌกูฎ ได้บังเกิดความระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับ ณ ป่าเวฬุ จึงได้เหาะไปยังป่าเวฬุ ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงเทศนาพระธรรมเรื่อง “โอวาทปาติโมกข์”*** ให้แก่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
*บุตรของนางโมคัลลี ซึ่งต่อมาโกลิต เมื่อบวชแล้วได้รับแต่งตั้งเป็น พระโมคคัลานะ
**หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ได้ฟังพระธรรมในคราวที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ในครั้งนั้นประกอบด้วย โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
*** อ่านเรื่อง “โอวาทปาติโมกข์” ได้ใน
https://www.facebook.com/nationalm.../posts/5221066851278832
อ้างอิง
ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระ. ปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๓๐. (รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐).
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๓. สารีปุตตเถราปทาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จาก: https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=3
คัมภีร์สุมังคลวิลาสีนี อรรถกถาทีฆนิกาย มหาปทานสูตร ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จาก: https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=1&p=1
(จำนวนผู้เข้าชม 544 ครั้ง)