นาค บนรอยพระพุทธบาทวัดเสด็จ
“นาค”บนรอยพระพุทธบาทวัดเสด็จ
ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐
ได้มาจากวัดเสด็จ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รอยพระพุทธบาทสัมฤทธิ์ ตรงกลางฝ่าพระบาทมีลายมงคล ๑๐๘ ประการ โดยขอบนอกรอยพระพุทธบาทด้านบนมีภาพพระอดีตพุทธเจ้า และขอบด้านล่างมีภาพพระสาวก มีจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาไทย กำกับแต่ละองค์ ลายมงคลปรากฏที่กึ่งกลางฝ่าพระบาทโดยจัดเรียงอยู่ในวงกลมซ้อนกันสี่ชั้น ประกอบด้วย ชั้นในสุดชั้นที่ ๑ เป็นเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยแนวเทือกเขาและมหาสมุทร ๗ ชั้น ปรากฏพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรล้อมรอบ วงกลมชั้นที่ ๒ เป็นลวดลายเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์และพันธุ์พฤกษา วงกลมชั้นที่ ๓ เป็นสัญลักษณ์เครื่องสูงและสมบัติของพระมหาจักรพรรดิ และวงกลมชั้นที่ ๔ เป็นชั้นวิมานพรหม หนึ่งในลายมงคลที่ปรากฏในชั้นที่สองนับจากศูนย์กลางของพระบาทคือรูป “พญานาควาสุกรี” เนื่องจากลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการในวัฒนธรรมสุโขทัยนั้นมีหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่พรรณาไว้ อาทิ จารึกป้านางคำเยีย พ.ศ. ๑๙๒๒ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย-บาลี กล่าวถึงลายมงคลต่าง ๆ บนรอยพระพุทธบาท ปรากฏชื่อ “วาสุกรี” ในกลุ่มสัตว์หิมพานต์*
โดยพญานาควาสุกรี หรือ วาสุกี* มีการกล่าวขยายความไว้อยูใน “คัมภีร์โลกบัญญัติ**” ในหมวดติรัจฉานกัณฑ์ที่ ๑๖ เนื้อความกล่าวถึงเหล่าสัตว์เดรฉานในโลกมนุษย์ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ สัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีหลายเท้า และสัตว์ปีก บทพรรณนาสัตว์ไม่มีเท้าได้กล่าวถึงนาค (งู) และมัจฉา (ปลา) สำหรับนาคนั้นอธิบายว่ามี ๔ ตระกูล ได้แก่วิรูปักษา เอราบถ ฉัพยาบุตร และกัณหาโคตมกะ แต่ละตระกูลจะมีคุณลักษณะต่างกันออกไป ส่วนพญานาควาสุกรี ความว่า “...ที่เรียกว่าตระกูลพญางูวิรูปักษ์ หมายถึงตระกูลพญางู ที่มีราชาพญางู ๒ ตัว ชื่อ วิรูปักษ์ ๑ วาสุกี ๑ ครองความเป็นราชา มีอิศราธิปัตย์ของพญางูที่มีพิษแก่ผู้ที่พบเห็น (เพียงจ้องตาดูก็ถูกพิษพญางูพวกนี้แล้ว)...”
นอกจากนี้ใน “คัมภีร์นารายณ์ ๒๐ ปาง” หมวดพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์ กล่าวว่าพญานาควาสุกรีเป็นนาคที่รักษาลูกศิลาบดยาแก้หอกเมฆพัท ดังข้อความว่า “...พญาอนันตนาคราชที่เป็นอาสน์พระนารายณ์ ๑ พระกาลนาคบิดานางอัคคี มเหสีทศกัณฐ์ ๑ พญาวิรุณนาคที่รับนางสีดาไว้เมื่อหนีพระรามไปบาดาล ๑ พญากัมพลนาคที่บอกที่ซ่อนเร้นให้ตรีเมฆ ๑ พญาธตรฐนาคที่รักษาแม่ศิลาสำหรับบดยาแก้หอกกบิลพัท ๑ พญาวาสุกรีที่รักษาลูกศิลาบดยาแก้หอกเมฆพัท ๑...”
ครั้นในสมัยหลังชื่อ พญานาควาสุกรี ก็ปนไปกับพญาอนันตนาคราชของพระวิษณุในศาสนาพราหมณ์ ดังปรากฏใน “พระเป็นเจ้าของพราหมณ์” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในหัวข้อพญาอนันตนาคราช กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“...พญาอนันตนาคราช หรือเศษนาค และวาสุกีก็เรียก เป็นอธิบดีแห่งนาคทั้งหลาย และเป็นใหญ่เหนือแคว้นบาดาล เป็นบัลลังก์ที่พระนารายน์บรรทมพักในระหว่างสร้างโลก มีศีรษะพัน ๑ ฯ บางตำหรับก็ว่าพญาเศษนาคเป็นผู้แบกโลกไว้ และบางแห่งก็ว่ารองบาดาลทั้ง ๗ ชั้น เมื่อหาวครั้งใดแผ่นดินก็ไหวครั้งนั้น ฯ เมื่อสิ้นกัลปก็พ่นพิษเป็นเปลวไฟไหม้โลกหมดสิ้น ฯ เมื่อครั้งเทวดากวนเกษียรสมุทรเพื่อหาน้ำอมฤตนั้น ได้ใช้พญาเศษนาคเป็นเชือกพันรอบมันทรคีรีและชักภูเขานั้นให้หมุนไป ฯ...”
*แนวคิดดังกล่าวนี้ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในคัมภีร์ “พุทธฺปาทลกฺขณ” ต้นฉบับคัมภีร์จารด้วยอักษรขอม ภาษาลาลี ระบุว่าจารขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๒ (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ-ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงมงคลข้อที่ ๕๓ วาสุกี อุรคราชา คือ พญานาควาสุกรี
**ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่าเขียนได้สองแบบคือ “วาสุกรี,วาสุกี” หมายถึง ชื่อพญานาคร้ายตนหนึ่ง; พญานาค. [ดูใน ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖, ๑๑๓๖.]
***แต่งขึ้นโดยพระสัทธรรมโฆษเถระ มีเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของโลกซึ่งจัดอยู่ในหมวดโลกศาสตร์ว่าด้วยจักรวาล เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น ๑๖ กัณฑ์ เช่น กัณฑ์ที่๑ เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว กัณฑ์ที่๒ ว่าด้วย ต้นไม้กับความหมายชมภูทวีป เป็นต้น
อ้างอิง
รักชนก โคจรานนท์. การวิเคราะห์ลักษณะและความหมายรอยพระพุทธบาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร. กรุงเทพฯ: เฮงศักดิ์มั่นคง, ๒๕๕๙.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระเป็นเจ้าของพราหมณ์. พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางสาวศุภา สิริกาญจน ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓).
วัฒนะ บุญจับ. คัมภีร์นารายณ์ ๒๐ ปาง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๘.
สัทธรรมโฆษเถระ, พระ. โลกบัญญัติ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 730 ครั้ง)