ตุ๊กตาชาววัง
ตุ๊กตาชาววัง
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันจัดแสดง ณ อาคารตำหนักแดง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ตุ๊กตาดินเผาขนาดเล็กรูปบุคคลบนเตียงไม้สลักลายปิดทอง ปรากฏรูปบุรุษ (อยู่กึ่งกลาง) ล้อมรอบด้วยรูปเด็กและสตรี ผิวกายทาสีขาว แต่งกายด้วยการห่มสไบ นั่งท่าพับเพียบและหมอบกราบ เตียงมีลักษณะเป็นเตียงเท้าสิงห์จำหลักลายพันธุ์พฤกษาใบเทศ
ตุ๊กตาชาววัง คือตุ๊กตาไทยขนาดเล็กปั้นจากดินเหนียว ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในพระบรมมหาราชวัง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยเถ้าแก่กลีบ ข้าราชการฝ่ายในพระราชสำนักเป็นผู้คิดค้นทำตุ๊กตาชาววังขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชบริพาร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว. ย้อย อิศรางกูร ได้ปั้นจำหน่ายที่ตำหนัก จนเป็นที่นิยมซื้อหาไว้เล่นกันทั่วไปตามตำหนักเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง มีข้อสังเกตว่าตุ๊กตาชาววังของโบราณจะบอบบางและมีขนาดเล็กกว่าตุ๊กตาชาววังที่จำหน่ายทั่วไปในปัจจุบัน
บันทึกของแพทย์หลวงชาวอังกฤษนามว่า มัลคอม สมิธ (Dr. Malcolm Smith) ซึ่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ถวายการดูแลพระพลานามัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้บันทึกถึงร้านค้าในพระบรมมหาราชวังว่า มีการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ตลอดจนของเล่นสำหรับชาววัง*
“...ของเล่นของพวกเด็ก ๆ ที่ขึ้นชื่อมากที่สุดและเป็นผลผลิตที่ทำขึ้นเฉพาะภายในวังได้แก่ รูปปั้นพวกผู้ดีชาวสยาม แม้จะมีขนาดความสูงไม่เกิน ๑-๒ นิ้ว แต่ก็มีรายละเอียดต่าง ๆ สมบูรณ์ครบถ้วนเรียกกันโดยทั่วไปว่า ตุ๊กตาชาววัง หมายถึง ตุ๊กตารูปผู้หญิงในราชสำนัก...”
สมัยรัชกาลที่ ๖ ในพระบรมมหาราชวัง ก็ยังมีการจำหน่ายตุ๊กตาชาววังอยู่ จากหนังสือชุด “เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก” ของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เล่าเรื่องของครอบครัวไทยสมัยรัชกาลที่ ๖ ต่อรัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๔๗๕) ในตอน “ชาววัง” เนื้อความกล่าวถึงตุ๊กตาชาววังไว้ว่า
“คุณยายว่างเวลาบ่าย เสด็จบรรทมตอนบ่าย คุณยายก็ได้มีโอกาสออกไปเที่ยวในบริเวณวังชั้นใน ที่ในวังมีร้านขายของด้วย เจ้านายทรงออกร้านเองในนั้น มีร้านขายอาหาร ขายตุ๊กตาชาววัง คุณยายซื้อมาหลายตัว มีละครแท่นเล็กๆ ขายด้วย...”
สำหรับสามัญชน อาทิ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้เล่าถึงตุ๊กตาของเล่นสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ใน หนังสือ “เมื่อวานนี้ ตอน เด็กคลองบางหลวง” ว่า
“ตุ๊กตาสมัยนั้นปั้นด้วยดินเผาตัวย่อมๆ แล้วทาสีผ้านุ่งผ้าห่ม ส่วนมากเป็นตุ๊กตาหญิงนั่งพับเพียบท้าวแขนอ่อนเขาทำขายซื้อมาตั้งเล่นบ้าง สำหรับใส่ในศาลพระภูมิบ้าง..”
และอีกตอนหนึ่งว่า
“ของเล่นมีตุ๊กตาท้าวแขน (ปั้นด้วยดินเผาแล้วลงสีผ้านุ่งเป็นผ้าลาย ห่มสะไบเฉียงทำเป็นดอกเล็กๆ สวยดีเหมือนกัน ตุ๊กตาท้าวแขนอย่างนี้ นิยมตั้งในศาลพระภูมิทั่วๆ ไป) ตุ๊กตาเด็กไว้ผมจุก (ทำอย่างเดียวกับตุ๊กตาท้าวแขน)...ตุ๊กตานั้นต่อมาบิดาเอาตุ๊กตาฝรั่งมาให้เป็นของนอก ใส่หีบกระดาษแข็งยาวราวเกือบศอก ตุ๊กตาใส่เสื้อนุ่งกระโปรงใส่ถุงเท้าใส่เกือกอย่างฝรั่ง ผมยาวสีบลอนด์ แขนขายกขึ้นลงได้ ดวงตากลอกได้ เวลาจับลงนอนตาปิด ถ้ายกขึ้นตั้งก็ลืมตา เป็นของใหม่แปลกดีสำหรับสมัยนั้น ปัจจุบันตุ๊กตาฝรั่งแบบนี้เห็นยังมีขาย ส่วนตุ๊กตาท้าวแขนของไทยดูเหมือนจะหมดไป ไม่เห็นมีขายอีก...”
*บันทึกไว้หนังสือเรื่อง “A Physician at the Court of Siam” แปลเป็นภาษาไทยโดย นางสาวศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาตร์ กรมศิลปากรในชื่อหนังสือ “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ”
อ้างอิง
กรมศิลปากร. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับงานประณีตศิลป์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๕. (หนังสือประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๕๕ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร).
ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: บริษัทการพิมพ์สตรีสาร, ๒๕๒๑.
วิจิตรมาตรา, ขุน (สง่า กาญจนาคพันธุ์). เมื่อวานนี้ ตอน เด็กคลองบางหลวง เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, ๒๕๒๐.
สมิธ, มัลคอล์ม. ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 1761 ครั้ง)