...

พระพิมพ์อัษฏมหาโพธิ์สัตว์

         พระพิมพ์อัษฏมหาโพธิ์สัตว์

         ศิลปะศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ - ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)

         พบที่เขาขรม อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙)

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         พระพิมพ์ดินดิบ ทรงรีคล้ายหยดน้ำ ขนาดกว้าง ๘.๕ เซนติเมตร สูง ๑๒ เซนติเมตร กึ่งกลางเป็นรูปพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร (วัชราสนะ) แสดงปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา) ประทับภายในซุ้ม ล้อมรอบด้วยพระโพธิสัตว์ผู้เป็นใหญ่แปดองค์ ล้อมรอบมณฑลอยู่ทั้งแปดทิศ ประกอบด้วย พระไมเตรยะ (พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตา) พระอวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา) พระสมันตภัทร (พระโพธิสัตว์แห่งการอธิษฐานขอพร) พระวัชรปาณี (พระโพธิสัตว์แห่งพละกำลัง) พระมัญชุศรี (พระโพธิ์สัตว์แห่งปัญญา) พระสรรวนีวรณวิษกัมภีนะ (พระโพธิสัตว์แห่งการขจัดอุปสรรค) พระกษิติครรภ์ (พระโพธิสัตว์แห่งสินในดิน หรือมหาปรณิธาน )และพระอากาศครรภ์ (พระโพธิสัตว์แห่งการชำระบาป หรือมหาสมาธิ) 

         การนับถือพระโพธิสัตว์ทั้งแปดองค์ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สังเคราะห์ (ธรรมสังครหะ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานสกุลวัชรยาน ซึ่งเชื่อว่าพระโพธิสัตว์นั้นมีอยู่มากมายเปรียบดั่งเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา 

         พระพิมพ์ดินดิบชิ้นนี้เป็นหนึ่งในพระพิมพ์จำนวน ๑๗ ชิ้นที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ต่อมาพระองค์ได้มีลายพระหัตถ์พระราชทานเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มอบพระพิมพ์ทั้ง ๑๗ ชิ้นเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ดังข้อความในลายพระหัตถ์ที่ ๙๘/๑๐๓๘ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๕ ความว่า 

         “พระพิมพ์ที่ได้จากถ้ำเขาขรม แขวงอำเภอลำพูน เมืองไชยา ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพส่งมาทูลเกล้าถวาย มาให้เจ้าคุณสำหรับเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ได้ส่งมาพร้อมกับจดหมายนี้แล้ว” 

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ศ.๑๓/๔๑. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระพิมพ์เมืองไชยา (๑๑-๑๗ ตุลาคม ๑๒๕).

(จำนวนผู้เข้าชม 622 ครั้ง)