...

พระพุทธรูปไสยาสน์

         พระพุทธรูปไสยาสน์

         ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

         กรมศิลปากรซื้อจากพิพิธภัณฑ์ของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         พระพุทธรูปไสยาสน์แกะสลักด้วยงา ลงสีตามเส้นขอบจีวร ส่วนฐานเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองลงสีในผังยกเก็จ ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานล่างจำหลักลายประจำยามลูกฟัก ฐานสิงห์ และฐานบัวหงายตามลำดับ พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะสำคัญได้แก่ พระรัศมีเป็นเปลว อุษณีษะนูน ขมวดพระเกศาจำหลักเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรปิด ปลายพระเนตรตวัดโค้งลง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ประทับไสยาสน์เบื้องขวา (สีหไสยาสน์) พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรบนพระเขนยกลม (หมอน) ซ้อนกันสองชั้น พระหัตถ์ซ้ายวางแนบพระวรกายเบื้องซ้าย

         พระพุทธรูปไสยาสน์ในสังคมไทยนิยมสร้างขึ้นเพื่อสื่อถึงหนึ่งในอิริยาบถของพระพุทธเจ้า (ประกอบด้วย อิริยาบถ นั่ง นอน เดิน (ลีลา) และยืน) อีกทั้งสัมพันธ์กับพุทธประวัติ อาทิ ตอนโปรดอสุรินทราหู ตอนปรินิพพาน ขณะเดียวกันพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าในอิริยาบถไสยาสน์นั้นพบว่ามีอีกหลายเหตุการณ์ เช่น ตอนทรงสุบินในคืนก่อนวันตรัสรู้ ตอนทรงพยากรณ์ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ตอนโปรดสุภัททปริพาชกสาวกองค์สุดท้าย เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักปรากฏในงานจิตรกรรมไทยมากกว่าการสร้างเป็นประติมากรรม

         พระพุทธไสยาสน์องค์นี้เป็นตัวอย่างของงาที่มีรอยแตกเรียกว่า “แตกลายงา” ซึ่งงาช้าง เป็นวัสดุที่หายาก เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันภัยหรือสิ่งชั่วร้ายได้ จึงนิยมนำมาแกะเป็นพระพุทธรูปเพื่อเป็น พุทธบูชา ในสังคมล้านนา เชื่อว่างาช้างที่กะเทาะหรือหักจากการชนช้างตัวอื่น เรียกว่า “งาสะเด็น” นั้นมีอานุภาพขับไล่วิญญาณร้ายหรือโรคร้ายได้

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ประณีตศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๓๖.

กรมศิลปากร. มงคลพุทธคุณ เทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๖. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๕.

สนั่น ธรรมธิ. โชค ลาง ของขลัง อารักษ์. เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 647 ครั้ง)


Messenger