...

เทวรูปสูริยะ

         เทวรูปสูริยะ

         พุทธศตวรรษที่ ๑๓ (ประมาณ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว)

         ได้มาจากเมืองศรีเทพ ตำบลนาตะกรุด (ปัจจุบันคือ ตำบลศรีเทพ) อำเภอวิเชียร จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะกรมการจังหวัดเพชรบูรณ์ส่งมาให้เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         แท่งศิลาแกะสลักรูปบุคคลปรากฏส่วนพระเศียรทรงกิรีฏมกุฎ (หมวกทรงกระบอก) ประดับตาบรูปทรงสามเหลี่ยมจำนวน ๓ ตาบ ตกแต่งเป็นลายกระหนกผักกูด กึ่งกลางตาบประดับเม็ดพลอย พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเปิดมองตรง พระกรรณยาวประดับกุณฑล พระวรกายแตกชำรุดหักหาย

         ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะที่สำคัญคือการทรงกิรีฏมกุฎ (หมวกทรงกระบอก) ซึ่งมักปรากฏกับประติมากรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีสถานะเป็นผู้นำ อาทิ พระวิษณุ พระสุริยะ และพระอินทร์ ขณะที่การประดับลวดลายกระหนกผักกูดบนหมวกดังกล่าว ได้มีการศึกษาแล้วว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ในพื้นที่เมืองศรีเทพยังพบประติมากรรมบางชิ้นตกแต่งกิรีฏมกุฎด้วยลายกระหนกผักกาด ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมตกแต่งในงานประติมากรรมศิลปะเขมรแบบไพรกเมง-กำพงพระ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)* จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองศรีเทพ ปรากฏทั้งรูปแบบศิลปกรรมทวารวดีและเขมรก่อนเมืองพระนครในช่วงเวลาดังกล่าว

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ถึงหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙** กล่าวถึงประติมากรรมองค์นี้ว่า

         “...ฉันได้รับจดหมายลงวันที่ ๕ กับรูปฉายเครื่องศิลาที่พบใหม่ที่เมืองศรีเทพนั้นแล้ว พิจารณาดูรูปฉายรูปอื่น ๆ เป็นของแบบขอมไม่สู้อัศจรรย์ มีดีอยู่รูป ๑ ที่เป็นหัวคนติดอยู่กับแท่งศิลา จะแกะกับศิลานั้นหรือใครเอาไปติดไว้กับเสาศิลาพิจารณาดูในรูปรู้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีหน้าภาพดูเป็นสมัยก่อนขอม งามดีด้วย เมื่อเอาลงมาควรห่อหุ้มระวังอย่าให้มาชำรุดกลางทาง เอาลงมาทั้งติดแท่งศิลาอยู่อย่างนั้น ถ้าเป็นของแกะกับแท่งศิลาจะเป็นของแปลกวิเศษที่นับเป็นศิริของพิพิธภัณฑสถานฯ ได้ชิ้น ๑ ถึงเป็นของทำเข้าติดไว้กับแท่งศิลา ถ้าติดอย่างนั้นแต่โบราณ ก็ควรตั้งไว้ทั้งแท่งศิลาอย่างเช่นฉายรูป ดูเข้าทีดี...”

 

 

*อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน : เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๒.

**ขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ เกาะปีนัง (Penang) ประเทศมาเลเซีย

 

 

อ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี. บทบาทของศิลปะอินเดียต่อเครื่องแต่งกายประติมากรรมบุคคลในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๖๒.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของ รูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๕.

บริบาลบุรีภัณฑ์. หลวง, เรื่องโบราณคดี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊พ, ๒๕๓๑. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) ท.ช., ท.ม., ต.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑).

(จำนวนผู้เข้าชม 711 ครั้ง)