...

งาช้างประหลาด

         งาช้างประหลาด

         พุทธศตวรรษที่ ๒๔

         สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “Museum Unveiling” เรื่องลึก เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         งาช้างประหลาดกิ่งนี้ มีผิวหยักเป็นปล้อง ๆ เกิดจากความผิดปกติทางธรรมชาติของช้าง ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของงาช้างที่พบได้ยาก และถูกนำมาจัดเก็บและแสดงในหอพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕ จากบัญชีรายการโบราณวัตถุที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถาน พ.ศ. ๒๔๔๐ ระบุว่า รายการที่ ๒๗๘๖ ชื่อวัตถุ “งาช้างปล้อง” จำนวน ๑ กิ่ง

         นอกจากนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังเก็บรวบรวมงาประหลาดแบบต่าง ๆ ไว้อีกหลายกิ่ง อาทิ งาช้างบิดเกลียวจำหลักพระพุทธรูปห้าพระองค์ งาช้างบิดแตกออกเป็นห้ากิ่งพันกัน งาช้างคุด โดยแนวคิดการรวบรวมวัตถุที่เป็นของประหลาดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนใน ประกาศเรื่องให้เอาของต่าง ๆ มาตั้งหอมิวเซียม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

         “...ผู้หนึ่งผู้ใดมีของประหลาด ที่จะเอามาตั้งในหอมิวเซียมนี้ ขอให้เอามา ณ วันพุธ เดือนสิบ แรมสามค่ำ จนถึง ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบ แรมสิบสี่ค่ำ จะให้มีพนักงานรับแลลงเลขนำเบอร์ ทุก ๆ สิ่งของผู้ที่เอามาแล้วจะให้ตั๋วพิมพ์ใบเสร็จให้กับผู้ที่เอาของมาให้...”

         ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ นายแฮร์มูนนิค เดอ จองก์ห์ (H. Munniks de Jongh) ได้ส่งรูปงาช้างปล้องและจดหมายสอบถามเกี่ยวกับงาช้างปล้องในสยามมาถึงเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น และกระทรวงเกษตราธิการได้สอบถามมายังราชบัณฑิตยสภา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบกลับลงวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า

         “...ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะตอบได้ว่างาเปนปล้อง ๆ เช่นนี้เปนเอง ที่ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร กรุงเทพฯ นี้ก็มีงาเหมือนเช่นนั้นอยู่กิ่งหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้ให้ถ่ายรูปฉายาลักษณ์ส่งมายังเจ้าคุณพร้อมกับจดหมายฉะบับนี้เพื่อจะได้ส่งไปยังนายแฮร์มูนนิคเดอจองก์ห์เปนสำคัญ งาที่ผิดธรรมดานอกจากที่เปนปล้อง ๆ อย่างนี้ยังมีอีกหลายอย่าง บางทีกิ่งเปน ๓ กิ่งพันพันก็มี ดังได้ถ่ายรูปมาให้ดูด้วยอีกแผ่น ๑ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเกิดแต่โรคของช้างบางตัวที่ทำให้งางอกวิปริตผิดธรรมดาไปเช่นนั้น...”

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. สมเด็จพระปิยมหราช พระผู้พระราชทานกำเนิดพิพิธภัณฑสถานเพื่อประชา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๗.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔) ศธ.๒.๑.๑/๑๖๔. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร เรื่อง ขอให้ช่วยพิจารณางาช้างซึ่งเปนปล้อง ๆ (๗ มี.ค. ๒๔๗๒ - ๓๐ ก.พ. ๒๔๗๔).

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ น.๔๙.๒/เอกสารกระทรวงนครบาล รัชกาลที่ ๕. เรื่อง บัญชีสิ่งของพิพิธภัณฑ์ (๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๐).

(จำนวนผู้เข้าชม 516 ครั้ง)


Messenger