กลักแปดเหลี่ยม
กลักแปดเหลี่ยม
สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานยืม
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นล่าง) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กลักทรงกระบอกแปดเหลี่ยมตกแต่งด้วยการประดับมุก ขนาดยาวรวมฝา ๒๑ เซนติเมตร ตัวกลักยาว ๑๘.๓ เซนติเมตร ปากกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ส่วนฝาด้านบนประดับมุกลายก้านขดใบเทศ ตัวฝาตกแต่งลายเกลียวใบเทศ ตัวกลักตกแต่งเป็นแถบลายเกลียวใบเทศคั่นด้วยดอกไม้ บริเวณปากกลักเป็นแถบลายดอกไม้สี่กลีบ ส่วนปลายกลักเป็นแถบลายกรวยเชิง ดอกไม้สี่กลีบ และจุดไข่ปลา
“กลัก” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่า “สิ่งที่ทำเป็นรูปคล้ายกระบอกสำหรับบรรจุของเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือของขนาดเล็ก มีฝาสวมปาก เช่น กลักพริก กลักเกลือ, ซองยาสูบทำด้วยเมล็ดตาล มีฝาสวมปาก, สิ่งที่ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก มีลิ้นชักเข้าออกได้ สำหรับบรรจุไม้ขีดไฟ เรียกว่า กลักไม้ขีดไฟ กล่องไม้ขีดไฟ ก็เรียก”
ทั้งนี้เอกสารทะเบียนเดิมเรียกกลักประดับมุกชิ้นนี้ว่า “กลักสารตรา ๘ เหลี่ยม” เนื่องด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กจึงน่าเป็นกลักที่จะใส่กระดาษ ในอดีตการเขียนเอกสารราชการต่าง ๆ จะเขียนบนกระดาษเพลา (กระดาษสาชนิดบาง เขียนด้วยดินสอดำ) เมื่อจะส่งเอกสารจะม้วนใส่กระบอกเอกสารที่ทำจากไม้ไผ่ (หรือบางท้องที่เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก “บั้งจุ้ม” เป็นต้น) ตัวอย่างที่กล่าวถึงการใช้กลักเป็นที่เก็บเอกสารนั้นปรากฏใน มหาชาติคำหลวง กัณฑ์จุลพน ในตอนที่ชูชกพบกับพรานเจตบุตรได้ลวงว่ากลักในย่ามที่ใส่ของแห้ง (พริก และงา) นั้นเป็นกลักพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสญชัย ซึ่งตนกำลังไปหาพระเวสสันดร ดังความว่า
“...เจตบุตรเห็นก็ขู่ว่าจะยิงด้วยหน้าไม้ ชูชกไหวดีแก้ว่า เป็นทูตของพระเจ้ากรุงสญชัย เจตบุตรเชื่อ ผูกสุนัขเข้ากับโคนไม้ ต้อนรับชูชก ถามว่าอะไรอยู่ในย่าม ชูชกชี้ไปที่กลักพลิกกลักงาว่า นี่คือกลักพระราชสาส์น เจตบุตรเชิญชูชกขึ้นไปบนเรือน ให้กินเนื้อย่างจิ้มนํ้าผึ้ง แล้วก็พาออกไปชี้มรรคา เจตบุตรพรรณนาพรรณไม้ อันมีในป่าหิมพานต์แล้วบอกทางที่จะไปสู่เขาวงกต...”
นอกจากนี้ในพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง นิทานโบราณคดี ตอน นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย ข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการใช้กลักบรรจุยาฝรั่ง (ขณะนั้นคือยาควินิน (quinine) เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย) แจกจ่ายไปตามหัวเมือง แต่จำเป็นต้องแปลงชื่อเพื่อไม่ให้ประชาชนตามหัวเมืองรังเกียจเนื่องด้วยเป็นยาฝรั่งไม่คุ้นเคยเหมือนยาพื้นเมืองดังความว่า
“...การที่กระทรวงมหาดไทยทำยาตามตำราฝรั่ง สำหรับจ่ายไปตามหัวเมือง จึงต้องคิดอุบายแก้ไขความรังเกียจด้วยให้เรียกชื่อยาที่ทำขึ้นใหม่ว่า “ยาโอสถศาลา” แต่ละขนานใส่กลักเล็ก ๆ กลักละ (ดูเหมือน) ๒๐ เม็ด พิมพ์หนังสือปิดข้างนอกกลักเอาแต่ชื่อโรคเรียก เช่นว่า “ยาแก้ไข้จับ, ยาแก้ลงท้อง, ยาแก้บิด” เป็นต้น ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุด ๆ มีใบปลิวโฆษณาคุณของยาโอสถศาลาสอดไปด้วย ส่งไปให้หมอตำบลเป็นผู้จำหน่าย (ดูเหมือน) ราคากลักละ ๑๐ สตางค์ จำหน่ายได้เงินเท่าใด ให้ค่าขายแก่หมอตำบลเป็นส่วนลดร้อยละ ๑๐ แม้ใช้อุบายกันคนรังเกียจอย่างนั้นแล้ว กว่าจะได้ผลดังประสงค์ก็ยังนาน เพราะเป็นของแปลก แม้หมอตำบลเองก็รับไว้จำหน่ายด้วยเกรงใจโดยมาก ตัวเองยังชอบใช้ยาสมุนไพรอยู่ตามเคย ต่อบางคนจึงทดลองใช้ยาโอสถศาลา แต่ต่อมาก็ปรากฏคุณขึ้นโดยลำดับ เมื่อยาโอสถศาลาจำหน่ายได้แพร่หลายจนเห็นว่าจะทำจำหน่ายได้ยั่งยืนต่อไป กระทรวงมหาดไทยจึงได้ตั้งสถานโอสถศาลาที่โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ แล้วรัฐบาลทำยาโอสถศาลาจำหน่ายเองสืบมา…”
อ้างอิง
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรุงเทพฯ: บรรณาคาร,๒๕๔๓.
มหาชาติคำหลวงฉบับกรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: มหามกุฏ, ๒๔๙๖.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 411 ครั้ง)