...

ตะบันหมาก

          ตะบันหมาก

          พุทธศตวรรษที่ ๒๖

          โครงการศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ยืม

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          ตะบันหมาก คือ อุปกรณ์ตำหมากสำหรับผู้สูงอายุหรือบุคคลที่ฟันไม่สามารถเคี้ยวหมากแข็งได้ โดยคำว่า “ตะบัน” สามารถเทียบคำว่า “ตฺบาล่” ในภาษาเขมรซึ่งหมายถึง “ครก” ตะบันหมากหนึ่งชุดประกอบด้วย ๑. ‘ตะบันหมาก’ รูปทรงกระบอก มี ‘ดาก’ ไม้กลมอุดก้นกระบอก ๒. ‘ลูกตะบัน’ ลักษณะเป็นแท่งโลหะที่มีด้ามสำหรับจับและมีปลายแบนและมีคม ใช้สำหรับตำหมาก และ ๓. ‘สาก’ มีลักษณะเป็นแท่งเหล็กยาวผอม ใช้ตำเพื่ออัดหมากที่แหลกแล้วให้แน่น

          ตะบันหมาก เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การกินหมากที่จัดรวมเอาไว้ในเชี่ยนหมาก* วิธีการใช้งานตะบัน เริ่มจากการนำปูนป้ายลงบนใบพลูแล้วใส่ลงในตะบันหมาก ใส่หมากที่เจียนแล้วลงไป โดยอาจใส่เปลือกสีเสียด กานพลู หรือสิ่งอื่น ๆ ลงไปด้วย ใช้ลูกตะบันตำให้แหลกพอที่จะเคี้ยวได้  แล้วใช้สากตำอัดหมากจนแน่น จากนั้นใช้ลูกตะบันหรือสากกระแทกดากที่ก้นกระบอก ดันหมากที่ตำแล้วให้ออกทางปากกระบอกเป็นคำ ๆ

          ตะบันหมากคู่นี้ทำจากเหล็ก ตกแต่งด้วยกรรมวิธีคร่ำเงิน และคร่ำทอง ลำตัวกระบอกตะบันหมากคร่ำลายราชวัตรดอกลอย ปากกระบอกและก้นกระบอกประดับแถบลายเกลียวดอกสี่กลีบ ลูกตะบันมีด้ามเป็นรูปทรงกระบอก ประดับลายราชวัตรดอกลอย และสากมีเป็นลักษณะแท่งเหล็กกลมยาวประดับลายราชวัตรดอกลอยเช่นกัน

 

 

*เชี่ยนหมาก ภาชนะสำหรับใส่เครื่องหมากพลู อาทิ ซองพลู เต้าปูน จอกใส่หมาก ผอบใส่ยาเส้น ยาฝอย พิมเสน ตลับสีผึ้ง กรรไกรหนีบหมาก มีดเจียนหมาก ตะบันหมาก ครกตำหมากฯ 

 

หมายเหตุ : อ่านราละเอียดเกี่ยวกับงานคร่ำได้ใน 

https://www.facebook.com/.../pb.../5721898347862344/...

 

อ้างอิง

กาญจนา โอษฐ์ยิ้มพราย และอลงกรณ์ จันทร์สุข. กิน อยู่ อย่างไทย. กรุงเทพฯ: ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, ๒๕๕๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 1546 ครั้ง)


Messenger