...

พระแก่นจันทน์

         พระแก่นจันทน์

         ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ (ประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว)

         สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         พระพุทธรูปจำหลักจากไม้แก่นจันทน์ ทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างแสดงปางห้ามสมุทร พระพักตร์ค่อนข้างกลม สงบนิ่ง มีครอบพระเศียรบุดุนจากโลหะเงิน พระรัศมีเป็นเปลวสูงทำด้วยทองแดงชุบทอง ทรงครองจีวรห่มเฉียง จีวรทาสีชาด เขียนลายทองก้านแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์ใบเทศ ฐานไม้ย่อมุมไม้สิบสองจำหลักลายประดับกระจกต่างสี

         พระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้น เนื่องด้วยในพระวิหารวัดไพชยนต์พลเสพย์พระอารามที่ทรงสถาปนาขึ้นมีพระพุทธรูปรูปแบบเดียวกันนี้ด้วยอีกองค์หนึ่ง 

         พระพุทธรูปสลักจากไม้แก่นจันทน์นั้นสร้างขึ้นตามตำนานพระแก่นจันทน์ ที่ระบุว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสร้างขึ้นบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้าขณะเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เมื่อครั้งพุทธกาล ซึ่งตำนานดังกล่าวมีหลักฐานที่บันทึกไว้ชัดเจนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ในบันทึกของพระภิกษุจีนฟาเหียน และในบันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจัง มีการกล่าวถึงตำนานพระแก่นจันทน์ที่มีเนื้อหาต่างกันตรงชื่อบุคคลและสถานที่ในเนื้อเรื่อง 

         ในสมัยอยุธยามีการสร้างพระพุทธรูปจากไม้จันทน์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในเอกสาร “คำให้การชาวกรุงเก่า” ระบุว่า ในพระวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์มีการประดิษฐานพระพุทธรูปแก่นจันทน์ และนับถือว่าเป็นหนึ่งในแปดพระพุทธรูปที่ทรงอานุภาพมาก อีกทั้งกล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ภายหลังจากที่พระองค์ทำศึกที่เมืองเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระแก่นจันทน์พร้อมกับพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่อยุธยา ดังความว่า “...ครั้นพระนารายน์มีไชยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว จึงให้เชิญพระพุทธสิหิงค์กับพระแก่นจันทน์แดงมาประดิษฐานที่พลับพลา ให้มีการมโหรศพสมโภชเปนอันมาก...”

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๖.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. รู้เรื่องพระพุทธรูป. พิมพ์ครั้งที่ ๓. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 813 ครั้ง)


Messenger