แผ่นศิลาจำหลักรูปพระพุทธเจ้าและจารึก
แผ่นศิลาจำหลักรูปพระพุทธเจ้าและจารึก
สมัยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐
ขุดพบที่ป่าปูน ตำบลบ้านไร่ เมืองศรีสัชนาลัย
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
แผ่นศิลารูปทรงคล้ายกลีบบัว สลักลวดลายทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งสลักรูปพระพุทธเจ้า มีพุทธลักษณะสำคัญคือ พระรัศมีเป็นเปลว อุษณีษะนูน พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง กึ่งกลางพระนลาฏมีพระอุณาโลม พระเนตรเปิดเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็ก แย้มพระสรวล รอบพระเศียรมีเส้นศิรประภา พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ส่วนปลายแยกออกจากกันคล้ายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ซ้ายยกพระหัตถ์ขึ้นแสดงวิตรรกมุทรา พระวรกายท่อนล่าง ชำรุดหักหายไป อีกด้านหนึ่งมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี ปรากฏอยู่จำนวน ๑๖ บรรทัด
พระพุทธรูปลีลาในศิลปะสุโขทัย ปรากฏหลักฐานเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบประติมากรรมลอยตัว พระพิมพ์ และภาพแกะสลัก ซึ่งสื่อถึงการแสดงอิริยาบถทรงดำเนิน นอกจากนี้ยังปรากฏในงานศิลปะล้านนา เช่น พระพุทธรูปดุนนูนบนแผ่นทองจังโกที่องค์ระฆังพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน เป็นต้น ซึ่งหลักฐานที่พบกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐
ส่วนข้อความจารึกที่ปรากฏบนแผ่นศิลาชิ้นนี้พบว่ารูปลักษณะอักษรคล้ายกับจารึกวัดบริพารภิกษุ (สท.๕๔)* เนื้อความที่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของ “อาฏานาฏิยปริตร” ซึ่งเป็นบทสวดเพื่อป้องกันอุปัทวันตราย**ทั้งปวง แต่เนื่องจากแผ่นศิลาชิ้นนี้ชำรุดหักหายไปบางส่วน ดังนั้นจึงปรากฏเพียงข้อความที่เป็นการกล่าวสรรเสริญอดีตพุทธเจ้า ๑๙ พระองค์ (ซึ่งหากจารึกหลักนี้มีเนื้อความสมบูรณ์จะปรากฏชื่อพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ ตามคติอดีตพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ที่ปรากฏในคัมภีร์อาฏานาฏิยสูตร ภาณวาร อังคุตตรนิกาย)
ความสำคัญของศิลาจำหลักชิ้นนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมสุโขทัยกับล้านนา กล่าวคือรูปแบบของพระพุทธรูปที่ปรากฏนั้นเป็นพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัยที่เรียกว่า “พระพุทธรูปหมวดใหญ่” ขณะเดียวกันแสดงถึงการรับรูปแบบศิลปะปาละผ่านทางล้านนาโดยเฉพาะการปรากฏชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน นอกจากนี้อักษรธรรมล้านนาปรากฏในหลักฐานสมัยสุโขทัยอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นิยมใช้จารึกภาษาบาลี โดยมีหลักฐานสำคัญคือ จารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุณิ พุทธศักราช ๑๙๑๙ ซึ่งปรากฏทั้งอักษรไทยสุโขทัย และส่วนท้ายที่เป็นภาษาบาลีใช้อักษรธรรมล้านนา
*ลักษณะเป็นจารึกบนแผ่นลานทอง อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย จำนวน ๖ บรรทัด ซึ่งกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เนื้อความกล่าวถึงบุคคลต่าง ๆ ที่บรรจุพระธาตุไว้สามแห่ง
**อุปัทวันตราย หมายถึง สิ่งอุบาทว์และอันตราย
อ้างอิง
พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ. “จารึกหลังพระพุทธรูปจำหลักศิลปะสุโขทัย.” ศิลปากร ๖๕, ๖ (พฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๖๕): ๕-๑๓.
พรสวรรค์ อัมรานนท์. “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย เรื่อง พระอดีตพุทธเจ้ากับวรรณกรรมพุทธศาสนา.” ดำรงวิชาการ ๗, ๑ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๑): ๓๗-๕๗.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย. นนทบุรี: เมืองโบราณ, ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 636 ครั้ง)