จารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม
จารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม
สมัยสุโขทัย พ.ศ. ๑๙๐๐
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้จากวัดพระบรมธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร นำลงมาที่กรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๙
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
แผ่นศิลาหินทรายแป้งแทรกสลับกับหินดินดาน มีขนาดกว้าง ๔๗ เซนติเมตร สูง ๑๙๓ เซนติเมตร หนา ๖ เซนติเมตร รูปทรงคล้ายกลีบบัว มีข้อความจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ทั้งสองด้าน ด้านที่ ๑ มี ๗๘ บรรทัด และด้านที่ ๒ มี ๕๘ บรรทัด เนื้อหาของจารึกหลักนี้ ด้านที่ ๑ กล่าวว่า ศักราช*ได้ ๑๒๗๙ (ตรงกับพ.ศ. ๑๙๐๐) พญาลิไทได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองลังกามาประดิษฐานไว้ที่เมืองนครชุม** จากนั้นจึงกล่าวถึง “ปัญจอันตรธาน” ซึ่งหมายถึงการเสื่อมของพุทธศาสนาตามลำดับ ๕ ขั้น (แต่ละขั้นมีระยะเวลา ๑,๐๐๐ ปี)*** และเตือนให้พุทธศาสนิกชน หมั่นประกอบบุญกุศลเมื่อพระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ เพื่อจะได้ไปพบพระศรีอาริยเมตไตรย ด้านที่ ๒ ของจารึกหลักนี้สภาพชำรุดมาก มีใจความกล่าวสรรเสริญพระธรรมิกราช และการประดิษฐานพระพุทธบาทซึ่งระบุว่าประดิษฐานไว้ที่เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เขานางทองเมืองบางพาน**** และที่เมืองพระบาง*****
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้สอบถามกับพระครูวัดพระบรมธาตุ เมืองกำแพงเพชร ในระหว่างที่พระองค์เสด็จประพาสมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงได้ทราบถึงที่มาของจารึกหลักนี้ ดังข้อความที่ทรงบันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ความว่า
“...กลับมาแวะวัดมหาธาตุ ถามพระครูถึงเรื่องศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย (คือศิลาจารึกหลักที่ ๓) ซึ่งอยู่ในหอพระสมุดฯ ทราบว่าได้ไปจากเมืองกำแพงเพ็ชร แต่ยังไม่ทราบว่าเดิมทีเดียวอยู่ที่ไหน ได้ความจากพระครูชัดเจนว่าศิลาจารึกแผ่นนั้น เดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุนี้เอง ตั้งอยู่ในมุขเด็จวิหารหลวง ภายหลังผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพ็ชร เอาไปรักษาที่วัดเสด็จ แล้วจึงส่งลงไปกรุงเทพฯ พระครูได้พาไปดูฐานที่ตั้งศิลาจารึกแผ่นนั้น ยังอยู่ที่มุขเด็จเป็นศิลาแลงแท่งใหญ่ เจาะกลางเป็นช่องเฉพาะฝังโคนศิลาจารึก พิเคราะห์ดูช่องพอได้กับศิลาจารึก เพราะฉะนั้นเป็นรู้แน่ว่าศิลาจารึกแผ่นนั้นพระมหาธรรมราชาลิไทยทำไว้ที่วัดนี้...”
*มหาศักราช
**ประดิษฐานไว้ ณ เจดีย์วัดพระบรมธาตุ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
***ความเสื่อมทางพุทธศาสนาประกอบไปด้วย ๕ ขั้น ได้แก่ ๑.ปฏิเวธอันตรธาน หมายถึงในระยะ๑,๐๐๐ ปี เริ่มมีบุคคลบรรลุเป็นพระอรหันต์น้อยลง ๒.ปริยัติอันตรธาน หมายถึงในระยะ ๑,๐๐๐ ปีต่อมา เป็นความเสื่อมด้านพระธรรมคำสอน ๓.วินัยอันตรธาน หมายถึงในระยะ ๑,๐๐๐ ปีต่อมา พระวินัยของสงฆ์เสื่อมลง ๔.ลิงคอันตรธาน หมายถึงในระยะ ๑,๐๐๐ ปีต่อมาไม่เหลือพระสงฆ์ที่สืบทอดพุทธศาสนา และ๕.ธาตุอันตรธาน หมายถึงในระยะ ๑,๐๐๐ ปีสุดท้ายของพุทธศาสนาจนกระทั่งพระธาตุเสื่อมสลายไป ไม่มีผู้กราบไหว้ และพุทธศาสนาสิ้นสุดเสื่อมสลายไป
****ปัจจุบันคือ บริเวณบ้านวังพาน ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
*****ปัจจุบันคือ บริเวณอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
อ้างอิง
กรมศิลปากร. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง ตั้งแต่เมืองๆเชียงใหม่ถึงปากน้ำโพธิ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๖๒.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. สุโขทัย ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ เล่มที่ ๑. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 7693 ครั้ง)