พระพิมพ์พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว
พระพิมพ์พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว
ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐
นายถม ธรรมปาโมกข์ มอบให้
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระพิมพ์ดินเผา รูปทรงสามเหลี่ยม พิมพ์รูปพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนฐานเป็นฐานประดับบัวหงายมีเกสร พระพุทธรูปมีพระรัศมีทรงเปลว เม็ดพระศกค่อนข้างใหญ่ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง แย้มพระสรวล พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง มีสังฆาฏิเป็นเส้นเล็กพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ประทับขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ขนาบซุ้มทั้งสองข้างด้วยแจกันทรงคล้ายหม้อมีดอกไม้ปักอยู่ กรอบซุ้มหน้านางตกแต่งด้วยลายเม็ดประคำ ส่วนปลายซุ้มเป็นลายกระหนกวงโค้ง ถัดขึ้นไปบนซุ้มเป็นพุ่มโพธิ์พฤกษ์แผ่กิ่งก้านม้วนเข้าหากันทั้งสองข้าง ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรตกแต่งอุบะ
พระพิมพ์นี้แสดงรูปแบบศิลปะสุโขทัยอย่างชัดเจน ทั้งรูปแบบของพระพุทธรูปซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปหมวดใหญ่ และลักษณะซุ้มที่ปรากฏเรียกว่าซุ้มเรือนแก้วแบบลังกา หรือ ซุ้มหน้านาง ซึ่งรับอิทธิพลจากศิลปะลังกา (แตกต่างจากกรอบซุ้มในศิลปะเขมรที่จะทำวงโค้งเข้า-ออกต่อกัน)
รูปแบบซุ้มเรือนแก้วบนพระพิมพ์นี้พบได้แพร่หลายทั้งพระพิมพ์ในศิลปะล้านนา เช่น พระพิมพ์ที่พบในพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในศิลปะสุโขทัยพบพระพิมพ์รูปแบบเดียวกันนี้อีกหลายชิ้นในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย รวมไปถึงพระพิมพ์ในศิลปะอยุธยาซึ่งพบทั้งรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน เช่น พระพิมพ์ ภายในกรุวัดราชบูรณะ และพระพิมพ์ภายในกรุเจดีย์ประธาน องค์ทิศตะวันออก วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณวัตถุ กรุเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๔.
กรมศิลปากร. พระพิมพ์ : พระเครื่องเมืองไทย. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๔.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 687 ครั้ง)